กูเกิล-รพ.ราชวิถี ดึงเอไอช่วยคัดกรองเบาหวานขึ้นตา

กูเกิล-รพ.ราชวิถี ดึงเอไอช่วยคัดกรองเบาหวานขึ้นตา

“กูเกิล” ประกาศความร่วมมือ “โรงพยาบาลราชวิถี” นำเอไอมาช่วยคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในประเทศไทย นำร่องโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดปทุมธานี-เชียงใหม่ ชี้แม่นย้ำ 97% เหนือกว่าสายตามนุษย์

นางลิลลี่ เพง ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ กูเกิล เฮลธ์ กล่าวว่า กูเกิลได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลราชวิถี นำซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาช่วยป้องกันการตาบอด โดยใช้เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา(diabetic retinopathy)

ทั้งนี้ เบื้องต้นหลังจากได้เริ่มดำเนินการศึกษาข้อมูลย้อนหลังในประเทศไทยเป็นเวลาหลายเดือน ขณะนี้กำลังเริ่มการทดลองทางคลินิกในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกทั่วประเทศ เป้าหมายของกูเกิลคือการทำให้ทุกคนเข้าถึงประโยชน์ของเอไอ 

สำหรับการขยายความร่วมมือมายังประเทศไทยผ่านความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถีครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนไทยได้รับการตรวจคัดกรองที่สามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น ส่วนสาเหตุที่เลือกประเทศไทย พิจารณาจากความพร้อมภายในประเทศเอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญและทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มากว่า 10 ปี

“เอไอเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการอ่านภาพ แต่ทั้งนี้ที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันระหว่างเอไอและมนุษย์ เพื่อช่วยกันพัฒนาให้เครื่องได้เรียนรู้ โดยผลที่ได้มีประโยชน์ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ได้แบบทวีคูณ”

นายไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านราย และทุกรายมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น 

อย่างไรก็ดี ภาวะนี้สามารถป้องกันได้หากได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำตั้งแต่เนิ่นๆ ทว่ามีข้อจำกัดคือบุคลากรจักษุแพทย์ที่มีเพียง 1,200 คน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาโดยเฉพาะมีเพียง 200 คน และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร เอไอจึงเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ

ผลจากการศึกษาพบว่า ในการตรวจคัดกรองดังกล่าว แบบจำลองเอไอสามารถตรวจจับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว โดยทำได้แม่นยำถึง 97% ส่วนคนทำได้ที่ 74%

สำหรับความร่วมมือกับกูเกิล ได้เริ่มนำร่องไปแล้วที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดปทุมธานี และเดือนหน้าเตรียมขยายไปที่เชียงใหม่ หวังว่าเอไอจะมีส่วนช่วยทำให้สามารถป้องกันการตาบอดในผู้ป่วยเบาหวานไนไทยได้มากขึ้น

นายเจย์ ยานิค รองประธานฝ่ายกูเกิลเอไอ กล่าวว่า พันธกิจของกูเกิลด้านเอไอมุ่งขับเคลื่อน 2 ด้านคือ 1.การวิจัยและวิศวกรรม และ 2.การสร้างอีโคซิสเต็มส์ โดยมองว่าเอไอจะมีส่วนสำคัญช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติ ทั้งการแพทย์ในอนาคตอีก 20-30 ข้างหน้า ขณะนี้กูเกิลพบว่า 7 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2553 - 2560 มีนักวิจัยสนใจนำเอไอไปปรับใช้ด้านเฮลธ์แคร์เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า

กูเกิลมีแผนขยายความร่วมมือด้านเอไอและทำงานร่วมกับนักวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เริ่มดำเนินการไปแล้วเช่น การแจ้งเตือนอุทกภัย คาดการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งแม้ยังไม่แม่นยำแต่สามารถวางแผนช่วยเหลือกู้ภัยได้ดีขึ้น

ล่าสุด กูเกิลยังได้ลงนามความร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(United Nations Economic and Social Commission for Asia Pacific ; UN-ESCAP) ร่วมกันแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและระบุแนวทางในการส่งเสริมการใช้เอไอเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในเอเชียแปซิฟิก โดยครั้งนี้จะมอบทุนให้กับสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านเอไอเพื่อประโยชน์ต่อสังคมในภูมิภาคด้วย