ศธ.เจรจากยศ.-ออมสิน ปล่อยกู้BTECเรียนซ่อมบำรุงเครื่องบิน-อิเลคทรอนิกส์

ศธ.เจรจากยศ.-ออมสิน ปล่อยกู้BTECเรียนซ่อมบำรุงเครื่องบิน-อิเลคทรอนิกส์

รมว.ศธ. มอบ "การุณ" ประสาน กยศ.พิจารณาปล่อยกู้ให้ผู้เรียนหลักสูตร BTEC เป็นกรณีพิเศษ พร้อมหารือธนาคารออมสิน อีกแหล่งเงินกู้ ชี้เป็นสาขาตรงความต้องการประเทศ เชิญชวนให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความพร้อม ร่วมกันขับเคลื่อนนำหลักสูตรไปใช้

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)กล่าวภายหลังประชุมติดตามการดำเนินงานหลักสูตร Business and Technology Education Council-BTEC ของ Pearson สหราชอาณาจักร ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 20 จังหวัด ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ว่า คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติ ได้ให้การรับรองหลักสูตร Business and Technology Education Council-BTEC ของ Pearson สหราชอาณาจักร ที่จะมาเปิดการสอนในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรก อยากเชิญชวนให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความพร้อม ร่วมกันขับเคลื่อนนำหลักสูตร BTEC ไปใช้ เพราะเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับได้มาตรฐานสากล เน้นสมรรถนะด้านอาชีพ มีการฝึกอบรมที่เข้มข้น เรียนจบสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งได้สอบถามกับนักศึกษาอาชีวะด้วยว่า ถ้าเรียนหลักสูตร BTEC ใช้เวลาเรียน 6 เดือนได้ประกาศนียบัตรรับรองใช้ทำงานได้ทันที กับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปีอยากเรียนแบบไหน ซึ่งนักศึกษาตอบว่าอยากเรียนหลักสูตร BTEC เพราะมีประโยชน์กับเขามากกว่า เพราะใช้เวลาเรียนสั้นหลักสูตรมีมาตรฐานสากล โอกาสได้ค่าตอบแทนสูง และก็มีความสนใจด้วยหาก ศธ.จะสามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษา คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

"ผมได้มอบหมาย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ไปประสานกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พิจารณาปล่อยกู้ให้แก่ผู้เรียนหลักสูตร BTEC กรณีพิเศษ เพราะเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ตรงนี้จะเป็นโอกาสให้เด็กเข้าสู่การศึกษา ขณะเดียวกัน ก็จะหารือธนาคารออมสินด้วย เพื่อให้เป็นอีกแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษากับเด็กที่เรียนหลักสูตร BTEC ใช้หลักการเดียวกับกองทุน กยศ.แต่เมื่อเรียนจบทำงานก็ให้มีการหักเงินใช้ทุนคืนผ่านสถานประกอบการ ได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ทุนคืน"นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักสูตร BTEC จะเริ่มจัดการเรียนการสอนในปี 2562 นี้ โดยจะเริ่มนำร่องใน 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กรุงเทพ หลักสูตรด้านช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น หลักสูตรด้านธุรกิจบริการ และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์