เอ็นไอเอเร่งปั้นสตาร์ทอัพเกษตรดึงวีซีเข้ามาลงทุน

เอ็นไอเอเร่งปั้นสตาร์ทอัพเกษตรดึงวีซีเข้ามาลงทุน

สำนักงานนวัตกรรมฯ เดินเครื่องสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเต็มรูปแบบในการพัฒนาเกษตรกรรมจากแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรแม่นยำ

สำนักงานนวัตกรรมฯ เดินเครื่องสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเต็มรูปแบบในการพัฒนาเกษตรกรรมจากแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรแม่นยำสูงและธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ ชูการมีส่วนร่วมทั้งเกษตรกร หน่วยงานเฉพาะทางตลอดจนธุรกิจเอกชน ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพสายเกษตร 100 รายต่อปีช่วยสร้างแพลตฟอร์มแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง เผยขอเวลา 4 ปีสร้างระบบนิเวศดึงวีซีต่างประเทศเข้ามาลงทุน

3 กลไกสร้างนักธุรกิจการเกษตกร

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยว่า จากนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล โดยปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าเกษตรแม่นยำสูง โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานกับงานด้านการเกษตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งนโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) ซึ่งเป็นธุรกิจหรือโครงการในลักษณะที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการหรือโครงการเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด

สำนักงานฯ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร” (Agro Business Creative Center) หรือเอบีซี เซ็นเตอร์ มีหน้าที่หลักคือ เร่งสร้างเสริมความสามารถแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการเกษตร ทั้งในส่วนเกษตรกรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมงให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการผลิต การจัดการและการตลาด ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาด้านการเกษตรร่วมกัน

ในการสร้างธุรกิจการเกษตกรสมัยใหม่จะดำเนินการผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ GROOM เป็นการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นทรายเม็ดใหม่ที่พร้อมพัฒนานวัตกรรมการเกษตรให้กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพเกษตรที่มีแค่หลักสิบ เมื่อเทียบกับฟินเทคมีจำนวนถึงหลักร้อย 2. GRANT เป็นการสนับสนุนทุนทำนวัตกรรมตลาดเกษตรในรูปแบบใหม่ และ 3. GROWTH เป็นการเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปทดลองการใช้งานทั้งตลาดในประทศและต่างประเทศ

ส่วนนวัตกรรมการเกษตรใน 3 สาขาที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและจำเป็นสำหรับประเทศไทย ได้แก่ 1. สาขาธุรกิจเกษตรดิจิทัล 2. สาขาธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 3.สาขาธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

จากสาขาเป้าหมายดังกล่าวได้ขยายมาเป็นเป้าหมายของเอบีซีฯ ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มใน 7 เซคเตอร์ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตรดิจิทัล หุ่นยนต์และออโตเมชั่น โลจิสติกส์และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ไบโอรีไฟเนอรี การบริการ และนิวฟาร์มมิ่งโมเดล เพื่อกระจายให้กับกลุ่มเกษตกรในแต่ละประเภทได้นำไปประยุกต๋ใช้งานในวงกว้างแทนการกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแบบเดิม

ตั้งเป้าบ่มเพาะ 100 รายต่อปี

นางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม เอบีซีเซ็นเตอร์ กล่าวว่า สตาร์ทอัพเกษตร (AgTech) มีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีเกษตรกรมากกว่า 20 ล้านคน แต่ภาคการเกษตรกลับไม่ได้เป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ ขณะที่เทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดังนั้น นวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ จะทำให้ภาพลักษณ์ของภาคการเกษตรไทยเปลี่ยนไป

ดังนั้น ทิศทางการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมและก้าวไปสู่ เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร ในที่สุด โดยการสร้างคนรุ่นใหม่ซึ่งจะพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

ศูนย์ฯ จึงมุ่งผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงาน รวมถึงใช้เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยทำนายสภาพดิน ฟ้าอากาศ เพื่อวางแผนการทำงานแทนการปล่อยไปตามธรรมชาติ ถัดมาการลดการพึ่งพาพ่อคนกลาง ด้วยการใช้ช่องทางในตลาดออนไลน์หรือการเป็นเจ้าของการผลิตร่วมกัน ทำให้เกษตรกรเกิดรายได้ใหม่ขึ้นมา รวมถึงการทำให้การเกษตรเกิดความคุ้มค้าในรูปแบบของ Lean

แต่ละปีทางศูนย์ฯ มีงบประมาณ 25 ล้านบาทสำหรับภารกิจสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ได้ประมาณ 100 คน ที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการเกษตร โดยกระจายไปยังส่วนต่างๆ เหมือนกับกองทัพมดที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ในการแก้ปัญหา สร้างระบบหรือช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบใหม่เพื่อลดตัวกลาง สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร คาดว่า 4 ปีต่อจากนี้จะมีจำนวน AgTech สตาร์ทอัพสายเกษตรในไทย 400 ราย จะดึงดูดวีซีต่างประเทศให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในธุรกิจเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น