ดัน 'บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย' ลดความเหลื่อมล้ำเรียนวิทย์

ดัน 'บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย' ลดความเหลื่อมล้ำเรียนวิทย์

"หมอธี" ฝากสพฐ.ดันโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เน้นการเข้าถึง เพิ่มครูคุณภาพ สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจี้ ผอ.สพท.ต้องรับผิดชอบบริหารจัดการ ลงทุนทรัพยากรโรงเรียนแต่ละแห่ง หวังลดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างโรงเรียน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล การเรียนการสอนตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยระดับปฐมวัยที่โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี ว่า โครงการบ้านวิทยาศาตร์น้อยประเทศไทย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้เริ่มโครงการนี้นำร่องในประเทศไทย 12 จังหวัดโดยได้รับแนวคิดมาจากประเทศเยอรมันนี ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีความก้าวหน้าและเป็นการดำเนินที่ถูกทางแล้ว โดยขณะนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว กว่า 20,000 โรง คิดเป็น 80% และในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีมีโรงเรียนที่ดำเนินการโครงการนี้กว่า 100 แห่ง

S__6209651

"อยากให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ เพราะขณะนี้ยังขาดความเท่าเทียมด้านคุณภาพ เนื่องจากยังไม่มีการประเมินว่าเด็กที่เรียนในโครงการนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่ หรือมีคุณภาพที่ดีเท่ากับต้นแบบของประเทศเยอรมนี ดังนั้นฝากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแนวทางในการประเมินตนเองในการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะการเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ดูผลลัพท์จากการทำโครงงานเท่านั้น ขณะเดียวกันวิทยากรอาวุโสของโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยทั้งประเทศมีเพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่งสพฐ.จะต้องดำเนินการที่จะทำอย่างไรให้เพิ่มวิทยากรกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงจะต้องมีการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนต่างๆด้วย เรื่องนี้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องรับผิดชอบบริหารจัดการว่าโรงเรียนไหนขาดอะไรบ้าง เพื่อจะลงทุนทรัพยากรได้อย่างตรงจุด"นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นอกจากนั้น ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่ฃปัจจุบันพบว่า มีการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย เนื่องจากมีการลงทุนที่ผิด เพราะให้คนที่ไม่รู้งานไปดูงานเมื่อกลับมาแล้วก็ไม่สามารถต่อยอดอะไรได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการด้านวิทยาศาสตร์ สพฐ.จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและการดำเนินการจะต้องไม่ทำให้เกิดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น