ม.ศิลปากร ต่อยอดชุมชนจ.ขอนแก่น ปรับโฉม 'ผ้าไทย' สู่OTOPเกรดพรีเมี่ยม

ม.ศิลปากร ต่อยอดชุมชนจ.ขอนแก่น ปรับโฉม 'ผ้าไทย' สู่OTOPเกรดพรีเมี่ยม

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น สินค้าโอท็อป (OTOP) อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชมที่ต้องปรับเปลี่ยน ยกระดับทั้งเรื่องของคุณภาพ การบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยทีม ADSU หรือASSET DESIGN คณาจารย์และนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ พัฒนาต่อยอดออกแบบผ้าไทย สินค้า OTOP ของชุมชนจังหวัดขอนแก่น 114 หมู่บ้าน 373 ผลิตภัณฑ์

S__6201441

นายปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่ามศก.ได้รับมอบหมายในโครงการOTOP นวัตวิถี ด้วยการนำบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญมาให้องค์ความรู้พัฒนาออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ผู้ประกอบการในชุมชนของจังหวัดขอนแก่น โดยจากจุดเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการได้นำผลิตภัณฑ์ซึ่งทำในชุมชนมาแสดง และวิทยากร นักออกแบบจะให้คำแนะนำในการพัฒนาแต่ละผลิตภัณฑ์แบบตัวต่อตัส แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนา ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม ปรับตัวสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาไปในระดับที่ดีกว่า และก้าวกระโดดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยม เป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ประเภท ผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง. ขณะเดียวกัน ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ และนักศึกษา ในการลงพื้นที่ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ได้ลงมือปฎิบัติจากสถานที่จริง ได้พัฒนางานออกแบบให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน" นายปัญจพล กล่าว

นิทรรศการขอนแก่นไลฟ์สไตล์ วิถีนุ่งห่ม "ผ้าเมืองแคน แดนแก่นคูณ" กิจกรรมในโครงการ "พัฒนาต่อยอดคุณภาพมาตรฐานออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดขอนแก่น" ภายใต้ "โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจังหวัดขอนแก่น" ที่สร้างและพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

S__6201443

ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่โชคดี และมีความเจริญที่สุดในอีสาน แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง ชาวขอนแก่นทุกคนต้องช่วยกันสร้าง ดีใจที่เห็นโครงการนี้เกิดขึ้น ได้เห็นความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะม.ศิลปากร ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตรับปริญญาอย่างเดียว แต่ลงพื้นที่ให้บริการชุมชน ได้มาให้ความรู้ แลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการพัฒนา การออกแบบ การจัดการ การจำหน่าย รูปแบบต่างๆ การบรรจุภัณฑ์ เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องการความรู้ทางวิชาการทั้งสิน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาลายผ้าใหม่ๆ เกิดขึ้น อยากฝากให้ทุกคนไม่ทิ้ง หรือหลงลืมลายผ้าเก่าๆควรจะยังคงรักษาลายผ้าเก่าๆ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ลายผ้าใหม่ๆ

S__6201444

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าขอนแก่นมีโครงสร้างรายได้ของประชาชนชาวขอนแก่นจะมี รายได้เฉลี่ยสูงที่สุดในจ.ภาคอีสาน โดยมีรายได้เฉลี่ย 119,000 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ มีรายได้ มีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น ทางจังหวัดขอนแก่นจึงได้มีการจัดโครงการต่างๆ เพื่อพยายามให้ประชาชนไปสานต่อ หลุดพ้นเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง หรือ 450,000บาท ต่อปี หรือต้องมีรายได้ เพิ่มมูลค่าขึ้นอีก 3 เท่าตัว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณภาพสินค้ามีความจำเป็น การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของโครงการที่มีความต้องการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสช่องทางการตลาด การขายที่หลากหลายให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้ให้แก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ในสังคมได้อย่างแท้จริง อีกทั้ง การที่ผู้ประกอบการในชุมชนได้ผ่านกระบวนการติดอาวุธทางปัญญาผ่านการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีกรมพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลอย่างใกล้ชิด จนเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการติดอาวุธและจุดประกายความคิดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองไปสู่ตลาดระดับประเทศและตลาดโลก

S__6201445

นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข หนึ่งในดีไซต์เนอร์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ นักออกแบบ นิสิตที่มาร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านแล้ว ยังได้เห็นสินค้าผ้าไทย ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ งดงาม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวนมาก โดยผ้าไทยที่ออกแบบร่วมกับชาวบ้านนั้น เป็นหมู่บ้านอำเภอโพน ที่ทอผ้าโดยใช้สีจากธรรมชาติ ซึ่งเข้ากับเทรนด์ในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อได้มาอบรมร่วมกัน เป็นความโชคดีที่ชาวบ้านก็อยากจะพัฒนาสินค้า ผ้าทอของตนเองให้เป็นที่สนใจมากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนความต้องการร่วมกัน และดีไซต์ออกมาเป็นชุดที่เรียบง่าย สวยงาม สามารถแยกชิ้นส่วนในการสวมใส่ รวมถึงยังเป็นการรักษาอนุรักษ์ผ้าไทยเอาไว้อีกด้วย

"ผ้าไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็มีกระบวนการทอผ้า ไหม สีที่นำมาใช้แตกต่างกันออกไป การเข้ามาช่วยดีไซต์ออกแบบทั้งผ้าทอให้กลายเป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย เป็นที่นิยม และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามเหมาะสม จะยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับผ้าทอเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการช่วยชาวบ้านให้ได้คิด ได้เรียนรู้การออกแบบผ้าทอ เพิ่มมูลค่า ช่องทางการตลาดที่เหมาะสม แต่หากต้องการให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องช่วยกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ถ้าเห็นคุณค่าของสินค้าไทย และมีการพัฒนายกระดับสินค้า ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสินค้าไทย ผ้าไทยมีความโดดเด่น และเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี" นายวิชระวิชญ์ กล่าว

S__6201447

โครงการนี้เป็นหยิบเมล็ดพันธุ์ นำภูมิปัญญาของเดิม มาสร้างเป็นสินค้าของไทย ให้เติบโตได้ เด็กสามารถเชื่อมโยงโลกอนาคต ดึงคอนเทนต์ในอดีต ภูมิปัญญาต่อยอดในอนาคตได้

ด้าน น.ส.ดลยา นามห้วยทอง ตัวแทนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองบัว จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากกรมพัฒนาชุมชน และทางทีม ADSU ม.ศิลปากร ที่ได้ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูล จึงได้ปรึกษากันในกลุ่มและตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าผ้าไหมไทยได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ผู้ที่ผลิต ผู้ทอกลับเป็นกลุ่มรุ่นแม่ๆ ยายๆ ที่บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจช่องทางการตลาด การดีไซต์ใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นทอผ้าเป็นผืนๆ ไม่ได้มีการออกแบบอะไรใหม่ๆ เมื่อเข้ามาร่วมโครง การได้รับความรู้จากทีมนักออกแบบ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอย่างมาก ทั้งช่องทางการตลาด การทำบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญเป็นการจุดประกายความคิด ไอเดียต่างๆ ในการสร้างสรรค์ผ้าทอ ผ้าไหมให้มีคุณค่า เพิ่มรายได้มากยิ่งขึ้น

S__6201446

"ตอนนี้ทำนาได้น้อยลง แม่ๆยายๆ ส่วนใหญ่ก็มาทอผ้าเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ด้วยความนิยมที่มีมากขึ้น ทำให้มีผู้ที่สนใจสั่งผ้าทอมากขึ้น จนบางเดือนไม่สามารถผลิตได้ทัน แต่การทอผ้าส่วนใหญ่เน้นเป็นผืนใหญ่ๆ ซึ่งก็ได้เฉพาะค่าแรง หากได้การออกแบบ แปรรูปผ้าทอผืนใหญ่ เป็นกระเป๋า ชุดเครื่องแต่งกายต่างๆ ให้ทันสมัย เป็นที่สนใจมากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ และมีการเพิ่มความรู้ในเรื่องของการผลิตบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย ทำให้ได้มุมมองความคิดใหม่ๆ เกิดเป็นกระบวนการผลิตผ้าทอที่จะกลายเป็นอาชีพหลักให้แก่คนในชุมชนได้ ดังนั้น อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ส่งเสริมความรู้ ไอเดียให้แก่คนในชุมชน ได้ผลิตสินค้าโอท็อป สินค้าไทยเกรดพรีเมี่ยมเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น" น.ส.ดลยา กล่าวทิ้งท้าย