'เกษตรฯ' สูตรถนนยางพาราทนทาน-ยืดหยุ่น-ลดเสียดสี

'เกษตรฯ' สูตรถนนยางพาราทนทาน-ยืดหยุ่น-ลดเสียดสี

"เกษตรฯ" ได้รับแบบ-สูตรสร้างถนนยางพาราจากกรมทางหลวง ประสานอปท.ทั่วประเทศเร่งทำความเข้าใจวิธีก่อสร้าง เริ่มมกราคม ปีหน้า

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนยางพารา ว่าองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย  

 

ได้นำเสนอผลการก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราซึ่งร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาเชียงราย ปรับปรุงถนนลูกรังสายหลังวัดพระธาตุจอมสัก ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 500 เมตร เป็นถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราสายแรกในภาคเหนือ ทั้งนี้เป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ใช้ส่วนผสมในอัตราส่วนน้ำยางพาราสดร้อยละ 60 ต่อผงปูนซีเมนต์ร้อยละ 40 หากสร้างถนนระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้น้ำยาง 3,500 กิโลกรัม ได้ดำเนินการเมื่อ 8 เดือนก่อน จากการทดสอบพบว่า มีความทนทาน รองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อบจ. เชียงรายจะนำไปปรับปรุงถนนสายอื่น ๆ อีก ปัจจุบันเชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพารา กว่า 300,000 ไร่ เกษตรกร 20,000 ราย ได้ผลผลิตยางก้อนถ้วยและน้ำยางกว่า 50,000 ตันต่อปี คาดว่าการนำน้ำยางสดมาทำถนนจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราในการแก้ไขปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำได้เป็นอย่างดี


นายกฤษฎา กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ส่งแบบและสูตรก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารามาให้กระทรวงเกษตรฯ แล้ว ซึ่งทางอบจ. เชียงรายที่สร้างถนนนำร่องเห็นว่า ตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงที่กำหนดคุณภาพของดินลูกรังที่จะมาใช้บดอัดผสมยางพาราและผงปูนซีเมนต์นั้น มีมาตรฐานสูง อาจทำให้บางพื้นที่ไม่สะดวกในการจัดหา แต่จากการก่อสร้างถนนสายแรกไป ผลปรากฏว่า ดินลูกรังในพื้นที่สามารถใช้ทำถนนได้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะหารือกับกรมทางหลวงเพื่อปรับคุณสมบัติของดินลูกรัง ส่วนราคากลางที่เดิมกรมบัญชีกลางกำหนดว่า ค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาทนั้นเป็นราคาจ้างเหมา ซึ่งอบจ. เชียงรายยืนยันว่า หากอบจ. ใช้กองช่างของท้องถิ่นดำเนินการนั้น งบประมาณอยู่ที่กิโลเมตรละ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังขอชี้แจงแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่กังวลว่า โครงการสร้างถนนจะไม่รับซื้อน้ำยางสดในพื้นที่โดยตรง แต่จะไปรับซื้อน้ำยางที่ผสมสารลดแรงตึงผิวจากโรงงานแปรรูปน้ำยางที่เป็นของนายทุนไม่กี่รายนั้น ไม่เป็นความจริง สูตรก่อสร้างที่กรมทางหลวงกำหนดมา สามารถใช้น้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรนำมาผสมสารลดแรงตึงผิว แล้วใช้งานได้เลย

 

เผย ! สูตรถนนยางพาราทนทาน-ยืดหยุ่น-ลดเสียดสี

 

นายกฤษฎา กล่าวว่าจะเร่งประสานกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศซึ่งขณะนี้แจ้งความจำนงค์เข้ามามากว่า ต้องการร่วมโครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยจะอธิบายถึงแบบและสูตรก่อสร้าง มอบคู่มือการก่อสร้าง รวมถึงการนำงบประมาณของอปท.มาดำเนินการให้เข้าใจตรงกันภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อที่เริ่มเดือนมกราคม 62 ทุกท้องถิ่นสามารถรับซื้อน้ำยางพาราสดจากสถาบันเกษตรกรมาก่อสร้างได้เลย


อีกทั้งจะสั่งการให้ผู้ช่วยทูตเกษตรในประเทศต่างๆ ศึกษาข้อเท็จจริง ตามที่อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานรายงานว่า ในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกาหันมาก่อสร้างถนนและลานจอดรถแบบงานดินซีเมนต์ผสมยางธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า โพลิเมอร์ลาเท็กซ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากยางธรรมชาติปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าแอสฟัลท์ซึ่งเป็นวัสดุเหลือจากการกลั่นน้ำมันดิบ

 

นอกจากนี้ยังมีความทนทาน ยืดหยุ่น และลดการเสียดสีของล้อยางได้ดีกว่าถนนคอนกรีต โดยมอบหมายผู้ช่วยทูตเกษตรตรวจสอบข้อมูลว่า ยางธรรมชาติที่ต่างประเทศใช้ มาจากยางพาราหรือพืชชนิดอื่น แต่ทั้งนี้ความนิยมใช้ยางธรรมชาติมาทำถนนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นแนวโน้มที่ดีในการส่งออกน้ำยางพาราจากสถาบันเกษตรกรไปจำหน่าย โดยการส่งออกนั้นมอบหมายให้กยท. ศึกษาแนวทางว่า กยท. จะรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรแล้วดำเนินการส่งออกเอง ให้สถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งส่งออก หรือกยท. จัดตั้งบริษัทร่วมค้ากับสถาบันเกษตรกรในการส่งออก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายยางพาราได้มากขึ้นและแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ด้วย