เปิดซองไฮสปีดเทรน 'บีทีเอส-ซีพี'ดัมพ์ต่ำเกณฑ์ สอบผ่านแพ็คคู่

เปิดซองไฮสปีดเทรน 'บีทีเอส-ซีพี'ดัมพ์ต่ำเกณฑ์ สอบผ่านแพ็คคู่

เปิดซองราคาไฮสปีดเทรนสามสนามบิน "บีทีเอส-ซีพี" ดัมพ์ราคาต่ำเกณฑ์ 1.19 แสนล้านสอบผ่านแพ็คคู่ รฟท.ขอเวลาพิจารณารายละเอียดประกอบความเป็นไปได้ของโครงการ ย้ำภายใน 14 ธ.ค.นี้ประกาศผู้ชนะ ยังปักหมุดเสนอ ครม.กลางเดือน ม.ค.2562

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเปิดซอง 3 ข้อเสนอด้านการเงิน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา วันนี้ (11 ธ.ค.) โดยระบุว่า ขณะนี้ รฟท.ได้ทำการเปิดซองเอกสารข้อเสนอราคาแล้ว พบว่าข้อเสนอของทั้งสองกลุ่มที่ยื่นประมูล มีราคาต่ำกว่าเกณฑ์ข้อกำหนดตามเอกสารประกวดาราคา (ทีโออาร์) ส่วนของเงินอุดหนุนรัฐตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท ทำให้ทั้งสองกลุ่มผ่านเกณฑ์การประเมิน

โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการประมูลโครงการจะนำข้อเสนอด้านการเงิน ที่ประกอบไปด้วย 8 ส่วน มาวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงและความเหมาะสมของราคาที่เอกชนเสนอมา ประกอบไปด้วย 1.บัญชีปริมาณงาน 2.แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ 3.แผนการเงิน 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน 6.ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน 7.จำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐและจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน และ 8.การกำหนดอัตราค่าโดยสาร

“รฟท.ได้เชิญผู้แทนของเอกชนที่ยื่นประมูลโครงการเข้ามาเปิดซองข้อเสนอที่ 3 เปิดซองราคาด้วยตนเอง พร้อมทั้งให้แลกเปลี่ยนเอกสารเพื่อให้รับทราบข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ถือเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอ และแสดงถึงความโปร่งใส แต่ราคาที่เปิดออกมาในวันนี้ ยังไม่ใช่การตัดสินผู้ชนะ เพราะคณะกรรมการฯ จะต้องนำข้อเสนอทั้งหมดไปวิเคราะห์ประกอบความเชื่อมโยง และท้ายสุดเมื่อนำสิ่งที่ขอ มาลบกับสิ่งที่ให้ ผู้ใดขอเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุด ถือเป็นผู้ชนะ”

นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า หากคณะกรรมการฯ พิจารณาข้อเสนอทั้ง 8 ส่วน และพบว่ามีเอกชนรายที่เสนอราคาเงินอุดหนุนรัฐต่ำสุดแล้ว แต่ยังมีความเชื่อมโยงของข้อเสนอบางส่วนยังไม่สมเหตุสมผล ก็จะเรียกเอกชนรายดังกล่าวมาชี้แจงรายละเอียดให้ตรงกัน โดยจะไม่ตัดสิทธิ์แพ้การประมูล ซึ่งคาดว่าภายใน 14 ธ.ค.นี้ จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่เสนอเงินอุดหนุนรัฐต่ำสุด และเจรจาต่อรอง ใช้เวลาอีกราว 2 สัปดาห์

โดยขณะนี้ รฟท.ได้จัดทำสัญญาควบคู่ไปกับการพิจารณาเอกสารประมูลแล้ว หากได้ตัวผู้ชนะประมูลโครงการ ก็จะนำเอกสารข้อเสนอบรรจุเข้าในสัญญา ก่อนนำส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา เบื้องต้นจึงมั่นใจว่า จะสามารถเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2562 และเดินหน้าลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.2562

สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน มีมูลค่าการลงทุนราว 2.24 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนเริ่มต้นในระบบขนส่งทางรถไฟ 1.68 แสนล้านบาท การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 4.51 หมื่นล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 1.06 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะได้รับสัมปทานอายุ 50 ปี เป็นการออกแบบและก่อสร้างจำนวน 5 ปี และดำเนินการให้บริการอีก 45 ปี ขณะที่ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท