'วิษณุ' ยันคำสั่งคสช.ปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม

'วิษณุ' ยันคำสั่งคสช.ปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม

“วิษณุ” ยันคำสั่งคสช.ปล่อยผีปลดล็อคพรรคการเมืองเปิดทางทำกิจกรรม ชี้หาเสียง-ป้ายคัตเอาท์ได้จนกว่ามีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ลั่น 4 รมต.ไม่ลาออกร่วมพปชร.ไม่มีกม.ห้ามบอกขึ้นอยู่กาลเทศะ

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งคสช. 22/2561 ในการปลดล็อกพรรคการเมืองว่า ขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง ซึ่งการแก้ไขคำสั่งทั้ง 9 ฉบับนั้นมีคำสั่งที่เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมทางการเมืองเพียง 2 ฉบับ และที่ส่วนเหลือเกี่ยวกับการรายงานตัว และเรื่องธุรกรรมทางการเงิน โดยพรรคการเมืองสามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ โดยการหาเสียงของพรรคการเมืองพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ระบุว่าการหาเสียงจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา ส่วนจะหาเสียงอย่างไรนั้นให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดดังนั้นในช่วงที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ และไม่ถือว่าเป็นการหาเสียง

นายวิษณุ กล่าวว่า หากพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยหรือเรียกประชุมส.ส.ไม่ต้องขอคสช.อีกแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบและจะเริ่มคิดค่าใช้จ่ายกันตั้งแต่วันนั้น หากจะขึ้นป้ายคัตเอาท์อะไรก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องเอาลง โดยการทำกิจกรรมทุกอย่างได้ ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น เรื่องรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความสงบเรียบร้อย

ทั้งนี้ หากจะเรียกว่าคำสั่งปลดล็อกฉบับนี้ ถือว่าเป็นการปล่อยผีให้พรรคการเมือง ก็แล้วแต่คุณจะเรียก เพราะปล่อยหมดแล้วจนไม่มีอะไรเหลือ และถือว่าดีกว่าช่วงที่พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งเสียอีก เพราะต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวว่า หากพรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้ ขณะที่ 4 รัฐมนตรีที่ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีกฎหมายอะไรกำหนดให้ลาออกแต่ต้องระวังตัว ส่วนข้อกฎหมายไม่จำเป็นต้องลาออกจนกว่าจะมีรัฐบาลใช่หรือไม่นั้น ก็บอกว่าใช่ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้อยู่ได้ด้วยข้อกฎหมายอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยอะไรอีกหลายอย่าง ยังมีเรื่องสังคม ความเหมาะสม ที่ต้องหาทางเอาตัวรอดกันเอง ถ้าถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ผิด แต่เหมาะสมหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพราะเมื่อจับเรื่องนี้มาพูดแล้ว ก็ต้องดูวัน ดูเวลา หรือที่เรียกว่า กาลเทศะ