‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังผูกติดกับปัญหาสงครามการค้า และสกุลเงินหลักในกลุ่มยูโรอ่อนค่า เงินบาทเคลื่อนไหวตามดอลลาร์

Ico นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน ดัชนี Stoxx50 ในฝั่งยุโรปปรับตัวลงถึง 1.4% สวนทางกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นได้ 0.2% อย่างไรก็ตามตลาดไม่ได้กลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปียังคงอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.85% พร้อมกับน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงหลุดระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรลอีกครั้ง

ความเคลื่อนไหวหลักของตลาด ถูกผูกติดกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับความกังวลเรื่อง Brexit ในทวีปยุโรปที่ดูจะไร้ทางออก แม้ในระยะสั้น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะกลับเข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐก็ดูจะชะลอตัวลงด้วย ล่าสุดการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพฤศจิกายนร่วงลงสู่แนวโน้มปกติโดยปรับตัวขึ้นเพียง 1.55 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก 

แม้การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะสามารถตรึงการว่างานสหรัฐให้อยู่ระดับต่ำเพียง 3.7% ได้ แต่แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนในปี 2018 เป็นปัจจัยที่ทำให้ทั้งธนาคารกลางสหรัฐและนักลงทุนต้องระมัดระวัง

ส่วนของเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย ช่วงนี้แกว่งตัวตามทิศทางของดอลลาร์เป็นหลัก เช่นล่าสุด เมื่อเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ก็ส่งแรงกดดันมาที่ค่าเงินเอเชียด้วย นอกจากนี้ในระยะสั้นนักลงทุนยังคงต้องการลดความเสี่ยงลงซึ่งไม่เป็นบวกต่อค่าเงินเอเชีย ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาท

มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 32.84-32.94บาทต่อดอลลาร์ และกรอบค่าเงินบาทระหว่างสัปดาห์ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดโดยรวมยังคงเผชิญกับสภาวะความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงหนักเกือบ 2% ในช่วงเช้า ก่อนที่จะพลิกกลับมาปิดบวกได้ หรือการที่ค่าเงินปอนด์(GBP) ผันผวนสูงท่ามกลางข่าวการเจรจาBrexit  ในช่วงนี้ นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับตลาดการเงินภายใต้สภาวะความผันผวนที่สูง

สำหรับสัปดาห์นี้มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจดังนี้ เริ่มจากวันอังคาร ตลาดจะจับตาถ้อยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งมีโอกาสที่ตัวเลขดังกล่าวจะยังคงสะท้อนมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนในอีก 6เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(Sentix investor confidence)ที่ปรับตัวลดลงแตะจุดต่ำสุดของปี  

วันพุธ ตลาดจะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ(Core CPI YoY) ว่าจะปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดหรือไม่(โตเกิน 2.2%) โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดอาจทำให้ตลาดยังไม่ปักใจเชื่อว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าที่เฟดมองไว้บนDot Plot  

วันพฤหัสบดี นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะยังคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ ทว่าตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของเฉพาะประธานECB Mario Draghi เพื่อหาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน อาทิ การขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งโอกาสที่ECBจะกลับมาใช้นโยบายซื้อสินทรัพย์ในปีหน้า รวมถึงมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจยูโรโซนจากECB  โดยค่าเงินยูโร(EUR) อาจปรับตัวลดลงได้ ถ้าหาก ECB ยังคงมีมุมมองที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าและแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน  

ในวันศุกร์ ตลาดจะรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก(Retail Sales)  ยอดการลงทุนเอกชนในสินทรัพย์ถาวร(Fixed asset investmet) รวมทั้งตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial production) เพื่อมองหาแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า รวมทั้งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านตัวเลขค้าปลีก(Retail sales) เช่นกัน 

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 32.75-33.05 บาทต่อดอลลาร์ ได้สัปดาห์หน้า และที่สำคัญจะต้องจับตาความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งตลาดอาจจะกลับมาผันผวนมากขึ้นหากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด รวมทั้งหากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น   

วันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.82-32.92บาทต่อดอลลาร์