องค์กรวิจัยส่งโนว์ฮาว ฟื้นอนาคตยางพาราไทย

องค์กรวิจัยส่งโนว์ฮาว  ฟื้นอนาคตยางพาราไทย

ที่นอนยางพาราสำหรับทหาร หน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะ วัสดุยางผสมสำหรับเสื้อเกราะและยางล้อประหยัดพลังงาน ตัวอย่างผลงานวิจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อเนื่อง นอกจากช่วยเกษตรกรไทยยังลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์หรือยุทธภัณฑ์ได้อีกด้วย

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว.สนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพารามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มการใช้ยางพารา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งเน้นโครงการวิจัยที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ และมีผลกระทบต่อประเทศ

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สกว.จัดสรรทุนวิจัยประมาณ 350 ล้านบาท ให้แผนงาน/โครงการวิจัยด้านยางพารารวม 237 โครงการ มีนักวิจัย 165 คน ผู้ร่วมวิจัย 319 คน จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทั่วทุกภาค 46 หน่วยงาน มีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ครบทั้ง 5 ด้าน คือ พาณิชย์ ชุมชนพื้นที่ วิชาการ สาธารณะและด้านนโยบาย

หน้ากาก-ที่นอนเพื่อทหาร

พล.ต.ชูเกียรติ ช่วยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) กล่าวว่า มีดีมานด์สำหรับยุทโธปกรณ์หลายส่วนที่ใช้ยางสังเคราะห์ ซึ่งสามารถทดแทนได้ด้วยยางพารา เช่น ที่นอนสำหรับทหารกองประจำการ ที่ใช้มาตั้งแต่ที่นอนยัดนุ่น ที่นอนเส้นใยมะพร้าว กระทั่งเห็นว่า สกว. มีงานวิจัยหมอนไร้กลิ่นจากยางพารา จึงน่าจะสามารถนำมาทำเป็นที่นอน เพื่อตอบความต้องการใช้งานที่ 4 แสนหลังของ 4 เหล่าทัพ โดยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการในการนำยางธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ

จึงเป็นที่มาโครงการ “การวิจัยและพัฒนาต้นแบบที่นอนยางพารา ที่ใช้กับเตียงนอนทหารกองประจำการในอาคารโรงนอนกองทัพบก” โดยกรมพลาธิการทหารบก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการนำยางธรรมชาติมาใช้ทำเป็นที่นอนแทนที่นอนใยมะพร้าว เนื่องจากมีคุณสมบัติดีกว่าหลายประการ ได้แก่ การยุบตัวของที่นอนเหมาะสมกับสรีระ ไม่มีใยมะพร้าวทิ่มแทงออกจากที่นอนและไม่มีฝุ่นจากใยมะพร้าว ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่

ตามมาด้วย “การพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะ สำหรับพลประจำรถถังเพื่อใช้ในประเทศ” ความร่วมมือระหว่าง ม.เกษตรศาสตร์กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย 4 เหล่าทัพและงานตำรวจมีความต้องการใช้งานกว่า 4 แสนหน้า ขณะที่หน้ากาก 1 หน้าใช้วัตถุดิบยางพารามากถึง 0.8-1.0 กิโลกรัม

พ.อ.รณภพ จันทร์นิยม รองผู้อำนวยการ สวพ.ทบ. กล่าวว่า กองทัพไทยมีหน้ากากป้องกันเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง รุ่น M25 A1 ซึ่งใช้ในการปฏิบัติการของหน่วยรถหุ้มเกราะประจำการ 1,624 หน้า และจัดหามาจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2530 เกิดการชำรุด ทำให้มีจำนวนไม่เพียงพอ ประกอบกับความต้องการใช้งานและราคาที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้งบจัดหาจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาชิ้นงานต้นแบบให้สามารถใช้งานได้จริงและผ่านมาตรฐานสากล

ผศ.สุนทร สิทธิสกุลเจริญ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า เฟสแรกเป็นการจัดสร้างแม่พิมพ์เพื่อผลิตหน้ากากใช้งบวิจัยราว 6 ล้านบาท โดยออกแบบให้เหมาะสมกับรูปหน้าคนไทยที่เล็กกว่ายุโรปหรือสหรัฐ ในขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในรถถังที่เป็นพื้นที่แคบอีกด้วย

ปัจจุบัน หน้ากากป้องกันเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถังต้องนำเข้าในราคา 2.5-3 หมื่นบาท แต่ต้นทุนการพัฒนาขึ้นเองจะอยู่ที่ 2.9-3 พันบาท บวกกับไส้กรองที่ยังคงต้องนำเข้าในราคาราว 5 พันบาท ทางกองทัพบกสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปผลิตเป็นหน้ากากป้องกันเคมี-ชีวะสำหรับภารกิจทางทหารและกรณีเกิดอุบัติภัยต่างๆ เช่น การรั่วไหลของสารเคมี ทดแทนการนำเข้าซึ่งมีราคาสูงกว่าถึง 40%

เฟสต่อไป แม่พิมพ์ที่พัฒนาขึ้นจะพร้อมฉีดขึ้นรูปในช่วงต้นปี 2562 หลังจากนั้นจะเป็นเฟสของการทดสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากลในมาตรฐานในการควบคุมของ The North Atlantic Treaty Organization (NATO)