เสริมเชื่อมั่น‘บี10’ อิงทดสอบใช้จริง80คัน

เสริมเชื่อมั่น‘บี10’  อิงทดสอบใช้จริง80คัน

เอ็มเทคจับมือ พพ.เปิดตัวยานพาหนะ 80 คันใน 4 หน่วยงานที่มีภารกิจต่างกัน นำร่องทดสอบใช้งานจริงไบโอดีเซล “บี10” ตั้งเป้าระยะทาง 1 แสนกิโลเมตร เผยแปรรูปจากไบโอดีเซลคุณภาพสูง หรือ เอช-เฟมที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น หวังสร้างความเชื่อมั่น

ลุ้นนำผลทดสอบยื่นขอมาตรฐานบี 10 ก่อนเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน

การทดสอบดังกล่าวได้รับสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ“สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” เพื่อเป็นทางเลือกในการผลักดันเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในอนาคต โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และองค์กรร่วมวิจัย ได้แก่ กรมอู่ทหารเรือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรีและ สวทช.

จากแล็บสู่ท้องถนน

นายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดี พพ. กล่าวว่า การนำร่องใช้ บี10 จากไบโอดีเซลคุณภาพสูง (เอช-เฟม)ในภาคขนส่ง เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรงานวิจัยญี่ปุ่น ได้แก่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) และสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมชั้นสูง ประเทศญี่ปุ่น (AIST) จากโครงการร่วมวิจัยไทย-ญี่ปุ่น ซาเทรป (SATREPS) เพื่อผลิตเอช-เฟมแล้วนำไปผสมเป็น บี10

ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องยนต์ยอมรับการใช้ไบโอดีเซลได้ที่ 7% หรือ บี7 แต่การจะเพิ่มสัดส่วนอีก 3% หรือบี10 นั้น จะต้องวิจัยพัฒนาสูตรให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ฉะนั้น ยานพาหนะ 80 คันนี้ จึงมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน เพื่อติดตามเก็บข้อมูลรอบด้าน เช่น ระยะทางวิ่งต่อวัน ปริมาณบี10 ที่ใช้ต่อวัน ทัศนะคติของผู้ขับ สำหรับประมวลผลและวิเคราะห์ต้นทุน ราคาและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนในอนาคต

มานิดา ทองรุณ นักวิจัยห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทน หน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน เอ็มเทค กล่าวว่า เอ็มเทคได้รับไบโอดีเซล100 จากบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) และบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) 12,000 ลิตร แล้วนำมาผสมตามสูตรที่พัฒนาขึ้นเป็นไบโอดีเซล 10 เพื่อใช้ในการทดสอบไม่ต่ำกว่า 120,000 ลิตร โดยกระจายให้แต่ละหน่วยงานตามลักษณะและปริมาณการใช้งาน ระยะเวลาการทดสอบประมาณ 1 ปีหรือวิ่ง 100,000 กิโลเมตรตามระยะการตรวจเช็ครถ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง ก.ค.2562

“หากผลเป็นไปในทางบวก ก็จำเป็นต้องยื่นขอการรับรองมาตรฐานไบโอดีเซล 10 จากกรมธุรกิจพลังงาน ก่อนไปสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ผลทดสอบเบื้องต้นไม่พบปัญหาใดๆ และเชื่อว่า ไทยเราพร้อมแล้วสำหรับน้ำมันบี 10

ความมั่นคงทางพลังงาน

พล.ร.ต.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ กล่าวว่า กรมอู่ทหารเรือดำเนินโครงการผลิตและใช้ไบโอดีเซลมาตั้งแต่ปี 2543 กระทั่งปี 2553 ได้ใช้น้ำมันบี100 กับเรืออังสนา ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งของรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ ทางชลมารคเพื่อทรงทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์และสะพานภูมิพล 1-2 นับเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” โดยได้นำยานพาหนะของข้าราชการทหารลูกจ้างและพนักงานราชการ ในสังกัดกรมพัฒนาการช่างและอู่ทหารเรือธนบุรี เข้าร่วมนำร่องทดสอบ บี10 เพื่อใช้ในการติดต่อราชการ ขนส่ง และเดินทาง

“ปัญหาด้านน้ำมันปาล์มหรือพืชผลทางการเกษตรจะมีทางออก ความมั่นคงทางพลังงานและเชื้อเพลิงก็สามารถหาคำตอบได้ในไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และสวนปาล์มที่ไทยมีอยู่จำนวนมาก"

ด้าน มทร.ธัญบุรี จะนำยานพาหนะทั้งรถกระบะบรรทุก รถตู้และรถบรรทุกอเนกประสงค์การเกษตร (รถอีแต๋น) ตลอดจนเครื่องสูบน้ำที่ใช้ภายในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมการทดสอบนี้ เช่นเดียวกับ สวทช.ที่มียานพาหนะส่วนกลางและยานยนต์ส่วนบุคคล ส่วน ม.เกษตรฯจะทดสอบในรถสวัสดิการ 22 คันที่ให้บริการภายในวิทยาเขตบางเขน รถบัสวิ่งระหว่างวิทยาเขต และรถยนต์ส่วนกลาง

นายดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้รับบี10 จำนวน 1,000 ลิตรต่อเดือน สำหรับใช้ในการทดสอบ ขณะที่ยานพาหนะต่างๆ ของ มก. ใช้น้ำมันดีเซลเดือนละ 7,760 ลิตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละกว่า 2,024 ตัน หากใช้ บี10 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซได้ 10% หรือราว 100 ตันต่อเดือน นอกจากจะเป็นการช่วยสร้างความตระหนักการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเดินรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย