ระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจแห่งอนาคตที่นักลงทุนต้องสนใจ

ระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจแห่งอนาคตที่นักลงทุนต้องสนใจ

ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีแห่งเนคเทค แบ่งปันข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ในแง่มุมการลงทุนในตลาดโลก ท่ามกลางการเติบโตของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่และรถยนต์ไฟฟ้า ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์กักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง (Supercapacitor)

ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor หรือ Ultracapacitor) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากที่สุดมากกว่าอุปกรณ์ตัวเก็บประจุแบบปกติทั่วไป (capacitor) ตัวเก็บประจุยิ่งยวดสามารถเก็บประจุไฟฟ้าปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถปล่อยประจุอย่างช้าๆ เหมือนแบตเตอรี่ หรือสามารถปล่อยประจุไปอย่างรวดเร็วเหมือนตัวเก็บประจุแบบปกติ ทำให้ในปัจจุบันตัวเก็บประจุยิ่งยวดมีความนิยมและถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลากหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น สามารถนำไปใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่และในรถยนต์ไฟฟ้า โดยใช้ข้อดีของการใช้ตัวเก็บประจุยิ่งยวดร่วมกับแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า ไฮบริด นั้นทำให้ได้อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน ที่มีประสิทธิภาพสูง น้ำหนักเบา ขนาดเล็ก และเก็บพลังงานได้มาก และที่สำคัญมีอายุการทำงานมากกว่าแบตเตอรี่หลายสิบเท่า

ปัจจุบันสภาวะการแข่งขันและตลาดตัวเก็บประจุยิ่งยวดในระดับโลก มีการแข่งขันสูงและกระจัดกระจาย มีความหลากหลายทั้งเทคโนโลยีและวัสดุ เนื่องจากมีบริษัทผู้ผลิตจำนวนมากตามภูมิภาคต่างๆและระดับนานาชาติ บางบริษัทลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะจับตลาดเกิดใหม่ที่ใช้ตัวเก็บประจุยิ่งยวด เช่น อุปกรณ์ไอโอที หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้ เป็นต้น อิเล็กโทรดของตัวเก็บประจุยิ่งยวดทำจากวัสดุคาร์บอนที่มีรูพรุนสูงเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวการเก็บประจุ ดังนั้นจึงมีการวิจัยเพื่อค้นหาวัสดุคาร์บอนที่มีรูพรุนระดับนาโนเมตรและมีต้นทุนต่ำ เช่น ถ่านกัมมันต์ หรือ ท่อคาร์บอนนาโน และ กราฟีน เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บประจุและลดราคาขายซึ่งปัจจุบันยังแพงอยู่

นอกจากนี้ หลายบริษัททั่วโลกให้ความสนใจที่จะพัฒนาตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้สารอิเล็กโทรไลต์แบบอินทรีย์ และอิเล็กโทรไลต์แบบของแข็ง เพื่อให้ตัวเก็บประจุยิ่งยวดสามารถทนต่อความร้อนและไม่ติดไฟ อีกทั้งตัวเก็บประจุยิ่งยวดไม่มีสารพิษที่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ตลาดตัวเก็บประจุยิ่งยวดในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโรงงาน และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยที่ตลาดที่ใช้ตัวเก็บประจุยิ่งยวดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็น ตลาดที่ใหญ่ที่สุด และจะมีขนาดตลาดที่ใหญ่มากยิ่งขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า จากรายงานของบริษัท IdTechEX ขนาดตลาดของตัวเก็บประจุยิ่งยวดจะเติบโตจากที่มีมูลค่า 685 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท) ในปี 2016 เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 65,000 ล้านบาท)ในปี 2022 หรือโตขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า

ถ้าดูขนาดตลาดตัวเก็บประจุยิ่งยวดแบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ทวีปอเมริกาเป็นทวีปที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดและเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับยุโรปและเอเชีย เนื่องจากมีความกระตือรือร้นในการใช้ อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีทางเลือกในการกักเก็บพลังงาน ดังนั้น การลงทุนวิจัยด้านนี้และตั้งเป็นโรงงานผลิตจึงมีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจอย่างยิ่ง

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.