สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 3-7 ธันวาคม 2561

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 3-7 ธันวาคม 2561

“เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดช่วงบวกลงปลายสัปดาห์”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับสกุลเงิน-ตลาดหุ้นในภูมิภาค ตลอดจนสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดัน หลัง ปธน. สหรัฐฯ และจีนเห็นพ้องให้เลื่อนกำหนดระยะเวลาที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ออกไป 90 วัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกบางส่วนและกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีหน้า กระตุ้นให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงและปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

- ในวันศุกร์ (7 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.82 เทียบกับระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่าง BREXIT ของรัฐสภาอังกฤษ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาสินค้านำเข้าและส่งออก ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดช่วงบวกลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,649.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.50% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 21.40% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 45,220.65 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 0.83% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 397.49 จุด

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากผลการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนที่เห็นพ้องกันให้เลื่อนกำหนดระยะเวลาที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไป 90 วัน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ร่วงลงในเวลาต่อมาตามตลาดต่างประเทศท่ามกลางความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวการจับกุม CFO บริษัทหัวเหว่ยของจีนในแคนาดาตามคำสั่งของศาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากกลุ่มโอเปกยังไม่สามารถเจรจาอสรุปเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต ก็เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงาน  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,645 และ 1,630 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,660 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของประเทศแถบยุโรป รวมถึงข้อมูลการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. ของจีน