สศช.ยันสถานการณ์เหลื่อมล้ำในไทยดีขึ้น

สศช.ยันสถานการณ์เหลื่อมล้ำในไทยดีขึ้น

สศช.ยกดัชนีธนาคารโลก ยันสถานการณ์เหลื่อมล้ำในไทยดีขึ้น ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และช่องว่างทางรายได้ ชี้ข้อมูลธนาคารโลกปี 58 ไทยรั้งอันดับ 40 จาก 67 ประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวข้อเท็จจริงเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยว่าที่ผ่านมาการวัดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยใช้มาตรฐานของธนาคารโลก (world bank) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้วัดกัน 110 ประเทศทั่วโลก

โดยใช้การวัดจากดัชนีค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำ (GINI Coefficient Index) ซึ่งมีการวัดใน 2 ลักษณะ คือ 1.GINI ด้านรายได้ และ 2.GINI ด้านรายจ่าย โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาค่าดัชนี GINI ทั้ง 2 ส่วนที่ใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้นแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ลดลง โดยในปี 2560 พบว่าค่า GINI ของไทยด้านรายได้คิดเป็น 0.435 ปรับลดลงจากปี 2550 ที่อยู่ที่ 0.499 ส่วน GINI ด้านรายจ่าย คิดเป็น 0.364 ลดลงจาก 0.398 ในปี 2550


“ผลการวัดความเหลื่อมล้ำของธนาคารโลกล่าสุดที่ออกรายงานในปี 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศที่มีการเก็บข้อมูลไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆของโลกแต่อย่างไร”

นอกจากนั้นในเรื่องของสถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่ทีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 25.1 เท่าในปี 2550 เป็น 19.29 เท่าในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุดมีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 11.7 เท่าในเท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่าในปี 2560