อาหารลูกกุ้งนาโน ไร้ปลาป่นขานรับอียู

อาหารลูกกุ้งนาโน ไร้ปลาป่นขานรับอียู

อาหารลูกกุ้งในรูปเจลบีดอุดมด้วยสารสำคัญ ไม่มีส่วนผสมของเนื้อปลาซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ขานรับแนวคิดความมั่นคงทางอาหารของสหภาพยุโรป ผลงานวิจัยร่วมระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กับ บริษัท บานตะไท จำกัด ผู้ประกอบการซื้อขายสินค้าทางการเกษตร

สูตรอาหารแบบไร้ปลา

บัณฑูร สายวิไล กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กล่าวว่า ธรรมชาติของกุ้งมีระบบทางเดินอาหารสั้นมาก จึงต้องการอาหารที่ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญอย่างกรดอะมิโน ละลายน้ำได้ง่ายมาก การเติมลงไปในอาหารกุ้ง เมื่อลงน้ำก็หายไปหมด ไม่มีเหลือถึงกุ้ง เช่นเดียวกับเอนไซม์หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกุ้งที่ไม่เสถียรในอุณหภูมิ 25-30 องศา ทำให้สลายตัวในระหว่างการผลิต

ประกอบกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารของสหภาพยุโรป ในการลดใช้ปลาซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์มาเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ จนเกิดเป็นระบบ Zero Fish Meal จึงสนใจพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่น ที่ผู้ประกอบการหลายรายพยายามพัฒนา แต่ติดข้อจำกัดหลากหลาย ทั้งต้นทุน วัตถุดิบทดแทนปลา และอื่นๆ

งานวิจัยเริ่มจากการปรับสูตรอาหาร โดยใช้สัตว์ทะเลที่เป็นอาหารกุ้งตามธรรมชาติอยู่แล้วอย่าง “เคย” มาแทน แต่ก็มีข้อจำกัดคือ เน่าเร็ว ในขณะที่ลูกกุ้งอายุ 10 วัน ต้องการอาหารขนาดจิ๋ว 150-450 ไมครอน ซึ่งกระบวนการผลิตปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 1 พันไมครอนหรือ 1 มิลลิเมตร

ทีมวิจัยจากนาโนเทค นำโดย “อิศรา สระมาลา” นักวิจัยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร เดินหน้าโครงการ “การพัฒนาระบบต้นแบบผลิตเม็ดไฮโดรเจลเก็บกักโปรตีนสำหรับประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้ง Brood stock และกุ้งวัยอนุบาล Post Larva ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม” โดยใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในอนุภาค (encapsulation) มาช่วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและยืดอายุให้ไม่เน่าเสียเร็ว

พร้อมกับพัฒนาเครื่องผลิตอนุภาคไฮโดรเจลชนิดต่อเนื่อง ที่สามารถผลิตเม็ดไฮโดรเจลได้ในขนาดที่เล็กกว่า 1 พันไมครอน ต่อมาพัฒนาต่อยอดมาใช้เทคโนโลยีไมโครเอ็นแคปซูเลชัน พร้อมกับวัสดุเคลือบชนิดใหม่ เพื่อกักเก็บโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กโดยไม่มีการรั่วซึม และเพิ่มค่าการดูดซึมให้กับลูกกุ้งอีกด้วย พร้อมเทคโนโลยีการผลิตใหม่ที่สามารถเติมกรดอะมิโน เอนไซม์ ฮอร์โมน และโพรไบโอติกส์ ลงไปโดยไม่สลายไประหว่างกระบวนการผลิต

“จุดเด่นของอาหารเลี้ยงลูกกุ้งของเราคือ ไม่ใช้ปลาป่น กากถั่ว เป็นแหล่งโปรตีนโดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของอียู ทั้งยังย่อยง่าย ช่วยให้ลูกกุ้งดูดซึมได้ทันที มีสารสำคัญพร้อมทั้งเติมไขมันได้มากกว่าอาหารที่มีในท้องตลาดถึงเท่าตัว ทำให้สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของลูกกุ้งได้”

หวังเปิดตลาดยุโรป

บัณฑูร กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนามในลูกกุ้ง 6 ล้านตัว เปรียบเทียบกับอาหารลูกกุ้งที่เป็นผู้นำตลาดโลก แบ่งเป็น 3 ล้านตัวกินอาหารเจลบีด และอีก 3 ล้านตัวกินอาหารในตลาด จากนั้นดูอัตราการเจริญเติบโต และอัตราการรอดชีวิต พบว่า อาหารเจลบีดสิ้นเปลืองน้อยกว่าราว 20% และเตรียมทดสอบภาคสนามในอีก 3 แห่งเพื่อยืนยันผล

“อาหารลูกกุ้งมีความต้องการอยู่ที่ 120 ตันต่อเดือน มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านบาท หากทดสอบภาคสนามแล้ว เราพร้อมที่จะต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมได้ทันที เนื่องจากมีโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล กำลังการผลิต 1-3 ตันต่อเดือน พร้อมกับมีผู้ประกอบการกว่า 3 รายให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจา คาดว่า จะพร้อมเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์จริงในช่วงต้นปี 2562”

นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์อียูในเรื่อง Zero Fish Meal โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้าถึงตลาดระดับไฮเอนด์อย่างยุโรปได้ อัตราการเติบโตของลูกกุ้งใกล้เคียงกับสิ่งที่มีขายในท้องตลาด ในต้นทุนที่ถูกกว่าราว 25% และยังใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า เพราะเป็นอาหารที่ดูดซึมได้เร็ว ไม่สูญเสียสารสำคัญในระหว่างการย่อยเหมือนอาหารกุ้งทั่วไป

นวัตกรรมนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่อาหารอื่นๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อปลดล็อคการกักเก็บสารสำคัญต่างๆ ที่ไม่เคยทำได้มาก่อน และเป็นกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของไทย และเครื่องมือเครื่อใช้ที่ผลิตได้เองในประเทศนวัตกรรมถือเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ เพื่อขายในราคาที่สูงขึ้น จากนี้ก็เตรียมที่จะพัฒนาอาหารสัตว์น้ำออร์แกนิก สร้างวัตถุดิบที่ราคาแข่งขันได้ ตอบเทรนด์อาหารออร์แกนิก เอื้อให้สามารถเปิดตลาดใหม่ ฉีกหนีคู่แข่งในตลาดโลก