'บิ๊กอู๋' ยันC188 เกิดประโยชน์ประมงไทย

'บิ๊กอู๋' ยันC188 เกิดประโยชน์ประมงไทย

"รมว.แรงงาน" ยัน C188 ครอบคลุมประมงพาณิชย์ราว 5 พันลำ ไม่กระทบประมงพื้นบ้าน คุมเข้มเรือต่อใหม่ ส่วนเรือเก่าใช้ได้จนปลดระวาง ย้ำไทยได้ประโยชน์ สร้างความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทยระดับสากล แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน คุ้มครองสวัสดิภาพลูกจ้าง

จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่188 หรือ C188 แต่ภาคประมงไทยส่วนหนึ่งแสดงความกังสลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยมีการลงนามในสัตยาบันนี้นั้น


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จำนวนเรือประมงในน่านน้ำไทยทั้งหมด 36,953 ลำ แยกเป็นเรือประมงในแม่น้ำ/ลำคลอง ประมงพื้นบ้าน 26,373 ลำ และเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,579 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือที่มีขนาดน้อยกว่า 30 ตันกรอส 5,110 ลำ ที่เหลืออีกราว 5,000 ลำเป็นเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งเมื่อไทนลงนามสัตยาบันC188แล้ว ข้อกำหนดตามอนุสัญญานี้จะใช้ในการดูแลเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปซึ่งมีอยู่ราว 5,000 ลำเม่านั้น ไม่ครอบคลุมในส่วนของประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด


อีกทั้ง ข้อกำหนดในC188 จำนวน 14 ข้อ มีเพียง 4 ข้อที่เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีกฎหมายไทยรองรับ ได้แก่ 1. การตรวจสุขภาพใบรับรองแพทย์ 2. การส่งแรงงานประมงกลับจากท่าเรือต่างประเทศ 3.การประกันสังคม และ4.ใบรับรองตรวจสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน ส่วนอีก 10 ข้อเป็นเรื่องเดิมที่กฎหมายไทยกำหนดไว้อยู่แล้ว คือ 1. อายุขั้นต่ำในการทำงาน 2. อัตรากำลังและชั่วโมงพัก 3.รายชื่อลูกเรือ 4.ข้อตกลงทำงาน 5.ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆในการคัดเลือกบรรจุคนงานประมงไม่เป็นภาระของแรงงานประมง 6.การจ่ายค่าจ้างทุกเดือนหรือเป็นประจำ 7. ที่พักอาศัยและอาหารน้ำดื่มเหมาะสมมีคุณภาพ 8.การดูแลทางการแพทย์ 9.ความปลอดภัยในการทำงานและการป้องกันอุบัติเหตุและ 10.การคุ้มครองการเจ็บป่วยบาดเจ็บเสียชีวิตจากการทำงาน


"เมื่อไทยลงนามในC188แล้วจะดำเนินยกระดับประมงไทยแบบค่อยเป็นคนไป ซึ่งการออกระเบียบต่อจากนั้นที่เป็นอำนาจรมว.จะพิจารณาโดยยึดโยงกับบริบทประมงไทยเป็นสำคัญ และการลงนามนี้ภาคประมงไทยจะได้ประโยชน์แน่นอน ทั้งในส่วนของลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงาน ขณะเดียวกันเป็นการหนุนเสริมนายจ้าง ทำให้มีแรงงานต้องการที่จะทำงานในภาคประมงมากขึ้น จากปัจจุบันที่ถูกเลือกเป็นงานลำดับสุดท้าย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลรแรงงานประมงได้ในระยะยาว อีกทั้ง การลงนามนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคประมงไทยในระดับสากล เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าประมงไทยได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ปีละราว 2 แสนล้านบาท เพราะคู่ค้าจะมั่นใจว่าสินค้าประมงไทยเกิดจากระบบการดำเนินการที่มีจริยธรรม ยึดหลักสิทธิมนุษยชน"พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว