สงครามการค้าส่อไม่จบ นโยบายจีนขัดใจ ‘ทรัมป์’

สงครามการค้าส่อไม่จบ นโยบายจีนขัดใจ ‘ทรัมป์’

นักวิเคราะห์ชี้ แม้ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ และปธน.สี จิ้นผิงของจีน อาจจะพักเรื่องสงครามกำแพงภาษีตอบโต้กัน แต่ความแตกต่างในมุมมองของ 2 ประเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีและธุรกิจที่รัฐสนับสนุน จะเป็นอุปสรรคในการเจรจาระหว่าง 2 ยักษ์เศรษฐกิจโลก

เอลีนอร์ โอลคอตต์ นักวิเคราะห์นโยบายจีนของบริษัทวิจัย ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (3 ธ.ค.) ว่า ด้วยความที่ยึดมั่นกับรูปแบบเศรษฐกิจจีนอย่างเคร่งครัด สีจะยังคงให้รัฐสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี ภายใต้นโยบาย "เมด อิน ไชน่า 2025"

รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาจีนว่าบังคับให้ส่งมอบเทคโนโลยี และแอบสนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและอาชญากรรมไซเบอร์ แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในรายละเอียดอย่างเป็นทางการของข้อตกลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

“แม้แลร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวชี้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันแทบทุกเรื่องในข้อตกลงเกี่ยวกับการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่ดูเหมือนว่าระยะเวลา 90 วันยังน้อยเกินไปสำหรับการหารือในประเด็นที่ซับซ้อน เช่น อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี” จู หัวหนี่ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารมิซูโฮ แบงก์ ระบุในรายงานเมื่อวันอังคาร (4 ธ.ค.)

จู เสริมว่า ในขณะที่การลดช่องว่างการค้าอาจเป็นส่วนที่เริ่มทำได้ง่ายกว่า จีนก็มีแนวโน้มที่จะยอมอ่อนข้อเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมของตนอย่างเมด อิน ไชน่า 2025 ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการหารือประเด็นเกี่ยวกับการส่งมอบเทคโนโลยี

โอลคอตต์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากมีข้อแตกต่างตั้งแต่ต้นจากการที่ฝ่ายจีนมีธงเรื่องระบบรัฐนำธุรกิจของตน จึงมีแนวโน้มสูงที่กรอบเวลา 90 วันจะไม่ช่วยให้สหรัฐได้รับการยินยอมจากจีนในระดับทรัมป์สามารถอ้างว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ได้

ด้านคีธ เวด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ของ “ชโรเดอร์ส” บริษัทบริหารสินทรัพย์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า แม้ทรัมป์กับสีตกลงที่จะพักทำสงครามการค้าไปจนถึงหลังปีใหม่ แต่เขายังกังขาเแนวโน้มข้อตกลงในระยะยาวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และคาดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับมาเป็นปรปักษ์กันใหม่ในปีหน้า

“เป็นไปได้ว่าข้อตกลงนี้สะท้อนให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์อ่อนแอลงหลังการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ และเริ่มตระหนักถึงความเสียหายจากการตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น” เวดระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ และว่า “แน่นอนว่า การกระทำนี้จะลดผลกระทบระยะสั้นที่มีต่อเงินเฟ้อจากการขึ้นภาษีนำเข้าในปี 2562 ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระงับการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว”

เวด เสริมว่า ภาคธุรกิจจะรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องเผชิญกับต้นทุนนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอีก ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นผลบวกกับเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะสูญเสียแรงส่งในปีหน้า เนื่องจากการกระตุ้นทางการคลังผ่อนคลายลง

“คำถามคือการสงบศึกครั้งนี้จะอยู่ได้นานเพียงใด สัญญาณความตึงเครียดในอนาคตปรากฏชัดในการแถลงข่าวของทั้ง 2 ฝ่าย โดยสหรัฐเน้นว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% หากยังไม่บรรลุข้อตกลงใน 90 วัน ขณะที่จีนระบุว่าจะลดภาษีนำเข้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน”