คุก 5 ปี 1เดือน 'รศ.ดร.จุฬาเก๊' หลอกสาวแต่งงาน

คุก 5 ปี 1เดือน 'รศ.ดร.จุฬาเก๊' หลอกสาวแต่งงาน

คุก 5 ปี 1 เดือน "รศ.ดร.จุฬาเก๊" ไม่รอลงอาญา ลวงเงินสาวร่วมล้าน หลอกจะแต่งงาน ทั้งที่มีเมีย ศาลชี้เป็นภัยร้ายแรงสังคม-ไม่สำนึกผิด

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.61 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.7292/2561 ที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุพศ วงษ์ชีพ อายุ 43 ปี ซึ่งอ้างเป็นอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระดับ รศ.ดร.สอนวิชาคอมพิวเตอร์ หลอกลวงหญิงสาวแต่งงาน เป็นจำเลย ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 และความผิดเกี่ยวกับการใส่ชุดครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่มีสิทธิทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ามีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551

โดยกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 อัยการได้นำตัว นายสุพศ มายื่นฟ้องด้วยวาจาต่อศาล ภายหลังหลังจาก พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ส่งตัว นายสุพศ ซึ่งให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งชั้นศาล นายสุรพศ ก็ให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติทำรายงานการสืบเสาะและพินิจ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติ-ภูมิหลังอายุ อาชีพของจำเลย สภาพความผิดพฤติการณ์แห่งคดี และเหตุอันควรปรานี กรณีการเยียวยาผู้เสียหาย สรุปเป็นรายงานสืบเสาะและพินิจส่งศาลประกอบการพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งกำหนดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (4 ธ.ค.)

โดยศาลพิเคราะห์คำรับสารภาพของจำเลยและพยานหลักฐานชั้นฟ้องแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.341 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ ม.14(1) และพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 ม.69 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงเป็นความผิดไป

พิพากษาให้จำคุกฐานฉ้อโกง 2 กระทงๆ 2 ปี รวมเวลา 4 ปี , ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ให้จำคุก 1 ปี และฐานสวมครุยวิทยฐานะ และเครื่องหมายของจุฬาฯ โดยที่ตนไม่มีสิทธิให้จำคุกอีก 1 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้นเป็นเวลา 5 ปี 1 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลเห็นสมควรลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน 15 วัน และให้จำเลยคืนเงิน 950,000 บาทที่หลอกลวงมาให้ผู้เสียหายด้วย

และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยแล้ว เห็นว่าขณะเกิดเหตุนั้น จำเลยเป็นเป็นชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกลับหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงตนว่ามีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นรองศาสตราจารย์ โดยปกปิดความจริงว่าไม่ได้เป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ อีกทั้งจำเลยยังหลอกลวงว่าจะสมรสกับผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้เสียหายจะได้เป็นคู่สมรสกับจำเลยในภายหน้า ผู้เสียหายจึงยินยอมให้จำเลยยืมเงิน 950,000 บาทเพื่อนำไปชดใช้หนี้สินที่จำเลยก่อและนำไปใช้จ่ายส่วนตัวโดยที่จำเลยไม่ได้เจตนาที่จะสมรสกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับบุคคลอื่น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านทรัพย์สินและด้านจิตใจของผู้เสียหายเป็นอย่างมาก อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุผู้เสียหายยังไม่ได้รับการชดใช้เยียวยาความเสียหายจากจำเลย ซึ่งแม้จำเลยจะไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดมาก่อนก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยถือเป็นภัยอันร้ายแรงต่อสังคม ปะกอบกับจำเลยเคยกระทำในลักษณะดังกล่าวกับหญิงสาวรายอื่นมาแล้ว เชื่อว่าจำเลยไม่เคยสำนึกในการกระทำผิดของตน ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าว จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำตัดสินแล้ว นายสุพศ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ของปล่อยชั่วคราวต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วก็ให้ประกันตัวไปในชั้นอุทธรณ์