สนช. ผ่านร่างกม. ห้าม 'คนหนีคดี' ใช้สิทธิ์ฟ้องคดีอาญา

สนช. ผ่านร่างกม. ห้าม 'คนหนีคดี' ใช้สิทธิ์ฟ้องคดีอาญา

สนช. ผ่านร่างกม. ห้าม "คนหนีคดี" ใช้สิทธิ์ฟ้องคดีอาญา ลงมติเห็นด้วย 149 เสียง งดออกเสียง 3 จากสมาชิกสนช. ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 152 คน

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีวาระเห็นชอบเสียงเอกฉันท์ จาก สมาชิกสนช. ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 152 คน จากสมาชิกที่มี 240 คน ลงมติเห็นด้วย 149 เสียง งดออกเสียง 3  ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่....) พ.ศ....  ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ โดยสารสำคัญของร่างกฎหมาย  คือ การตัดสิทธิ์บุคคลที่ปฏิเสธอำนาจศาล ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุด เช่น บุคคลที่หลบหนีการจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ห้ามใช้สิทธิ์ฟ้องคดีอาญาใดๆ ได้อีก 

ทั้งนี้ในการอภิปรายในวาระสอง ยังมีสาระสำคัญ ซึ่งเป็นการตีความของเนื้อหาตามที่ กมธ. พิจารณา ไว้ด้วยว่า ในมาตรา 5 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มความมาตรา 161/1 ซึ่งกมธ.เพิ่มเติมขึ่นใหม่นั้น ระบุว่า กรณีที่ศาลพบการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบผู้ถูกฟ้อง โดยมุ่งหวังประโยชน์ที่ไม่ชอบ กำหนดให้ศาลยกฟ้อง และห้ามบุคคลยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกัน ขณะที่วรรคสองของมาตราดังกล่าว ระบุพฤติกรรมที่หมายถึงการฟ้องคดีไม่สุจริต คือ กรณีที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในดคีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย

ซึ่งในบทบัญญัติดังกล่าวนายสุรสิทธิ์ แสงวิโรจน์พัฒน์ เลขานุการ กมธ. ฐานะตัวแทนศาลยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุม ว่า สำหรับพฤติกรรมที่หมายถึงการฟ้องคดีไม่สุจริตซึ่งได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่ ในส่วนของผู้ที่ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงการไมยอมรับคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น จะหมายถึงการหลบหนีการรับโทษตามคำพิพากษาทั้ง คำตัดสินให้จำคุก หรือ ชำระค่าปรับ แต่กรณีดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีอาญากับโจทก์ที่ถูกตัดสิทธิ์ฟ้องร้องคดี กรณีที่คดีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ในที่ประชุม สนช. ได้ซักถามถึงกรณีการใช้สิทธิฟ้องร้องโดยไม่สุจริต ตามที่เคยมีกรณีที่ผู้เสียหายนำคดีเดียวกันไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมในหลายจังหวัด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนกับผู้ที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งนายสุรสิทธิ์  ชี้แจงด้วยว่า ตนเข้าใจว่าฟ้องไม่ได้ เพราะทำให้เกิดกรณีรังแกจำเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ายังมีเนื้อหาที่น่าสนใจ คือ มาตรา 4 ซึ่งเพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547  ให้อำนาจเจ้าพนักงานศาลสามารถจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลสั่ปล่อยตัวชั่วคราว กรณีที่มีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องรอตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองดำเนินการ ซึ่งปรับเนื้อหาให้ทันกับการใช้เทคโนโลยีติดตามตัวผู้ที่ถูกศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว