7 พรรคการเมือง ประสานเสียง พัฒนาการศึกษาปลอดการเมือง

7 พรรคการเมือง ประสานเสียง พัฒนาการศึกษาปลอดการเมือง

"หนูนา" ชี้เป้าปฏิรูปการศึกษา 20 ปี เปลี่ยนรมว.ศธ 21 คน ต้องสร้างระบบการศึกษาปลอดการเมือง ขณะที่ "พปชร."ประสานเสียงสร้างความพร้อมสู่ศตวรรษ 21 เน้นหลัก 4C "หญิงหน่อย" บอกต้องพัฒนาคน สร้างวาระแห่งชาติด้วย

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.61 ที่ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน แกนนำพรรคการเมือง 7 พรรคประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ , พรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย , พรรคประชาธิปัตย์ , พรรคชาติไทยพัฒนา ,พรรคอนาคตใหม่ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ร่วมเสวนาหัวข้อ ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก โดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ TEP ซึ่งร่วมกับสถาบัน TDRI จัดเสวนา

โดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เริ่มเปิดการเสวนาเป็นคนแรก ก็ได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีมาถึง 21 คน ก็สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่อยากจะขอให้เป็นหลักต่อพี่ๆ พรรคการเมืองทุกพรรค คือ การช่วยกันทำให้การศึกษาปลอดจากการเมือง โดยรัฐมนตรีไม่ต้องกลัวว่าจะโดนย้าย และต้องให้มีความอิสระ ขณะที่ส่วนตัวหากจะได้มาดูแลเรื่องการศึกษาก็พร้อมจะเปิดรับฟังทุกความเห็นในการเสนอแนะ โดยการพัฒนาระบบศึกษานั้นควรจะต้องให้สัมพันธ์กับท้องถิ่น ไม่ใช่ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำต้อง

ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคประชารัฐ ก็ได้กล่าวถึงว่า เห็นด้วยกับ น.ส.กัญจนา ที่ระบบการศึกษาจะต้องปลอดจากการเมือง นอกจากนั้นก็จะต้องยึดหลัก 4 C คือต้องไม่ compromise ประนีประนอม แต่จะต้องดำเนินการให้ได้อย่างต่อเนื่อง continue และทำกันแบบคณะกรรมการ committee เพื่อสร้างความร่วมมือกัน cooperation โดยหลักที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมการศึกษาไทยให้พร้อมมากที่สุดที่จะสู่ศตวรรษที่ 21 โดยการศึกษาอยากให้ออกแบบยึดโยงกับชุมชุน เหมือนในอดีตที่การศึกษาเริ่มจาก บ้าน วัด โรงเรียน

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการจะสร้างนโยบายเพื่อระบบการศึกษาว่า ควรจะเริ่มจากล่างสู่บนด้วย ไม่ใช่ลักษณะของฝ่ายบริหารที่จะออกแบบคุมลักษณะบล็อกทั้งหมด ขณะที่สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การใช้เวลาที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด เหมือนกรณีการสอนภาษาอังกฤษ ก็ต้องให้เด็กสื่อสารได้ ขณะที่ครูผู้สอนก็ต้องมีทักษะการสื่อสารเช่นกัน

โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการพัฒนานั้นระบบการศึกษานั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาด้วยคือการพัฒนาคน หรือ Global citizen ที่ควรให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องพัฒนาคนให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในสมัยใหม่มาร่วมกันพัฒนาความรู้ ไม่ใช่การทำหลักสูตรการศึกษาให้เหมือนตัดเสื้อโหลที่ใช้เหมือนกันหมด แต่ควรต้องให้ความสำคัญต่อระบบการศึกษาในแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนด้วย

ขณะที่นายเอกนก เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็กล่าวว่า ยังเชื่อว่าพรรคเมทองต่างๆ ก็ให้ความสนใจต่อระบบการศึกษา โยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับน.ส.กัญจนา ที่ว่าจะต้องให้ระบบการศึกษาปลอดจากการเมือง ขณะที่อาจจะให้กระทรวงศึกษาธิการคล้ายกับการบิหารของ ธปท. ที่เป็นอิสระภายใต้กำกับของรัฐเพื่อจะไม่ให้เป็นการเมืองมากเกินไป

โดยน.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หรือครูจุ๊ย กล่าวปิดท้ายว่า การปฏิรูปครั้งที่ผ่านมาล้มเหลวโดยตลอด ถ้าอยากเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย เหมือนประเทศฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ฟินแลนด์มีกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าการจะเปลี่ยนการศึกษา ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย โดยเริ่มจากห้องเรียน ครูเป็นส่วนสำคัญที่สุด ห้องเรียนต้องเป็นทีมเวิร์ค ไม่ใช่คำสั่งจากครูถึงนักเรียน ต้องสร้างห้องเรียนให้นักเรียนมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น จะต้องไม่มีครูเป็นผู้ผูกขาดความคิดในห้องเรียนอีกต่อไป เรามีครูที่มาจากวัฒนธรรมแบบใหม่จำนวนมาก ครูที่เน้นการสอนแบบทีมเวิร์กมากกว่าที่จะเน้นการผูกขาดความรู้ ดังนั้น ต้องสร้างครูแบบนี้เป็นครูต้นแบบ แล้วผลักเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย เราต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่นักเรียนต้องเชื่อฟังครูโดยไม่ตั้งคำถาม ห้องเรียนคือภาพจำลองของสังคม เราอยากเห็นสังคมแบบไหน ก็สร้างสังคมในห้องเรียนแบบนั้น