แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้สร้างที่อยู่ช้างดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลก

แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้สร้างที่อยู่ช้างดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลก

ถ้าเป็นเรื่องการช่วยเหลือช้าง นานาชาติยกย่องเธอให้เป็นที่หนึ่ง แต่คนไทยรู้จักเธอน้อยมาก

"""""""""""""""""""""""""""""""

ผู้หญิงตัวเล็กๆ เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิศ คนเหนือที่พ่อเป็นชนเผ่าขมุ มีฐานะยากจน แต่เธอทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำ คือ ช่วยเหลือช้างป่า ช้างบ้าน ที่ได้รับการทรมานจากการทำงาน จึงมีทั้งช้างพิการ ช้างแก่ ช้างดุร้าย และสัตว์อีกหลายประเภท

ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับช้าง รวมถึง หมา แมว ม้า ควาย และหมูป่า ใครเอามาทิ้งหรือเดือดร้อน เธอรับไว้ในความดูแลที่ Elephant Nature Park หรือศูนย์อภิบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 400 ไร่ มีสัตว์ต้องดูแลกว่า 1,200 ตัว โดยมีช้าง 86 เชือก

การริเริ่มศูนย์บริบาลช้าง เธอทำทุกวิถีทางให้สัตว์เหล่านั้นมีชีวิตที่เป็นอิสระ ถ้ามีบาดแผลทางกาย ก็รักษา หากมีบาดแผลทางใจก็เยียวยา ทั้งร้องเพลง กล่อมช้าง นอนเล่นกับช้าง และอาบน้ำให้ช้าง กว่าจะทำให้มันเชื่อใจ เธอถูกเหวี่ยงด้วยก้อนหินไม่รู้เท่าไหร่ 

ณ วันนี้ แสงเดือน ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ถูกรับเชิญจากผู้นำหลายประเทศ ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เพื่อไปบอกเล่าเรื่องการช่วยเหลือช้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องช้างป่า ช้างบ้านในหลายประเทศ

นอกจากเธอจะเป็นเจ้าของรางวัล Hero of Asia จากนิตยสาร Time ยังได้รับรางวัลอีกมากมาย และเคยได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ศูนย์แห่งนี้เป็น 1 ใน 10 สถานที่เกี่ยวกับสัตว์่ที่ดีที่สุดในโลก

ขณะที่คนทั่วโลกรู้จักเธอ แต่คนไทยยังรู้จักเธอน้อยมาก และยังเข้าใจเรื่องช้างไม่มากพอ

และในโอกาสที่เดอะวิสดอม กสิกรไทย พาลูกค้าไปสัมผัสเรื่องราวของศูนย์บริบาลช้าง ทั้งดูช้างเล่นน้ำ ทำอาหารให้ช้าง และเล่นกับช้าง

กิจกรรมดีๆ ที่ทำให้คนกลุ่มนี้และผู้เขียนมีความเข้าใจเรื่องช้างมากขึ้น

"ในเมืองไทย ที่นี่อาจไม่ดังมาก แต่ในอเมริกาดังมาก เพราะแม่แสงเดือนมีเพื่อนที่อเมริกาเยอะมาก เขาเห็นจากสารคดีเรื่อง Love & Bananas: An Elephant Story โดย Ashley Bell ดาราฮอลลีวู้ด ที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ มาถ่ายทำสารคดีที่นี่ เพิ่งฉายเมื่อปีที่แล้ว ที่อเมริกาจะรู้จักเล็ก ชัยเลิศ และน้อยหน่าที่เป็นตัวละครหลัก แต่เมืองไทยไม่ได้รับสิทธิให้ฉาย” ทิพย์สุดา มะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ เล่า

ลองอ่านเรื่องนี้ให้จบ แล้วจะรู้ว่า คนไทยมีความสามารถและเสียสละระดับนานาชาติมีอยู่ไม่น้อย เล็ก ชัยเลิศ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่หลายประเทศยกย่องในฐานะคนทำงานเพื่อช้างและสิ่งแวดล้อม

ได้ยินมาว่า ศูนย์แห่งนี้มีค่าใช้จ่ายเดือนละกว่าสามล้านบาท แล้วบริหารจัดการยังไง

เรามีรายได้พอกับรายจ่าย ดิฉันทำงานหนักมาก ทั้งดีไซน์จิวเวอรี่ วาดรูป ถ่ายภาพช้างขาย แล้วเอาไปประมูลขาย หนังสือก็ทำขาย เวลาไปพูดที่ไหนในต่างประเทศ แทนที่จะบริจาคเงินก็ซื้อหนังสือ

      เรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หัวละ 2,500 บาทต่อวัน พวกเขามาถ่ายรูป ป้อนอาหารช้าง ดูช้างอาบน้ำ มีอาหารให้ทานหนึ่งมื้อ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเข้ามาไม่เก็บเงิน แต่ไม่ค่อยมา เพราะคนไทยอยากดูช้างวาดรูป ช้างเต้นระบำ อยากให้เด็กนักเรียนมาเที่ยว แต่ครูมักถามว่า มีช้างวาดรูปไหม เราก็เลยยกทีมไปให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน มีทูตช้างที่เป็นดารา เพื่่อให้เด็กๆ รักและเมตตาสัตว์ 

ถ้าเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ชาวต่างชาติเสียคนละ 400 ดอลล่าร์ (มีอาหารมังสวิรัติ 3มือและที่พัก 7 วัน) มาทำงานดูแลช้าง เก็บขี้ช้าง มีสมัครเข้ามาทำงานทุกสัปดาห์ และพวกฝรั่งเป็นนักสืบสวน พวกเขาเข้ามาดูว่า ดิฉันเอาเงินไปทำอะไร ทุกวันนี้เราอยู่ได้ด้วยแรงศรัทธา บางคนกลับมาอีกรวมๆ 20 กว่าครั้ง พร้อมยาเต็มกระเป๋า

      และอีกส่วนที่ดิฉันทำคือ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เราต้องให้เขาเป็นเครือข่ายเรา เพราะสถานที่ตรงนี้ เคยเป็นแหล่งตัดไม้เถื่อน ยาบ้าชุกชุม เราก็สร้างโมเดลธุรกิจโฮมสเตย์ ถ้าพวกเขาเอานักท่องเที่ยวมา เราให้โควต้าชาวบ้าน 50 คนฟรี ซึ่งเขาสามารถอยู่ได้

เงินบริจาคมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกส่วนมาจากขายเมล็ดกาแฟเพื่อสิ่งแวดล้อม ใต้ร่มไม้จากชาวเขา ขายให้ต่างประเทศ และมีคนถามดิฉันว่า ทำกระดาษขี้ช้างไหม...ไม่ทำ เพราะทำลายสิ่งแวดล้อม หรือขายกาแฟขี้ช้างไหม...ไม่ทำ เพราะช้างไม่ได้กินเมล็ดกาแฟ ต้องหลอกช้าง โดยเอาน้ำอ้อย น้ำตาล มาผสมให้ช้างกิน และไม่เป็นผลดีต่อช้าง เรื่องนี้ มันไม่ใช่เรื่องเงิน เราต้องเมตตาสัตว์และไม่สมควรทำ

การฝึกให้ช้างวาดรูป ทรมานสัตว์อย่างไร

     ช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝึกให้วาดรูป เรามีคลิปเบื้องหลังการฝึกเยอะ แม้กระทั่งให้ช้างเล่นลูกบอล เต้นระบำ คนส่วนใหญ่ไม่รู้เบื้องหลังการฝึกช้าง อย่างเด็กนานาชาติหลายโรงเรียน เราก็ไปบรรยายพูดคุยให้เด็กๆ ฟัง ครูเชิญมาไปหมด เพราะเราเชื่อว่า การศึกษากลิ้งโลกได้

มาเที่ยวที่นี่ ไม่ควรลูบหรือสัมผัสช้าง?

ช้างต้องการเป็นช้าง ต้องการมีชีวิตอิสระ ฝรั่งบางคนไปลูบหน้าลูบตา จับโน้นจับนี่ จับหาง มันไม่ใช่ ช้างไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อมนุษย์ อาสาสมัครที่เข้ามาทุกสัปดาห์ เราสอนให้เขารู้สิทธิในการเคารพผู้อื่น แต่ช้างบางเชือกก็ชอบให้คนลูบและเล่นกับมัน อย่างศรีนวลจะเดินเข้าหาเลย ถ้าคนไม่จับมัน มันเอางวงกระแทก ช้างเชือกนี้จับได้เลย

       ช้างที่นี่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์เป็นช้างแก่ และ 80 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาสภาพจิตใจ ช้างทุกเชือกจะไม่ล่ามโซ่  มีช้างหลายเชือกถูกมัดมา ปล่อยให้เป็นอิสระ มันยังคิดว่ามันถูกมัดอยู่ อย่างฟ้าใส เราช่วยมาจากกลุ่มละครเร่ บุรีรัมย์ ตอนที่ไปเจอ โซ่ที่ล่ามกินเข้าไปในเนื้อ มีหนองปกคลุม เวลาควาญช้างจะไขโซ่ มันจะเอางวงฟาด เจ้าของช้างตัดสินใจยกให้ เพราะเอาอาหารให้กินก็เอาเท้าเหยียบ ตาก็เริ่มบอด

แล้วคุณบำบัดฟ้าใสยังไง

น้ำตามันไหลมานาน จนเป้าตาหนาเป็นลานน้ำตา มาอยู่กับเราตอนอายุ 4 ขวบครึ่ง ห้าเดือนแรก แม้ขาจะเป็นอิสระแล้ว มันก็ยังวิ่งเหมือนมีโซ่มัด เวลาพาไปเล่นโคลน ก็เล่นไม่เป็น เพราะถูกแยกจากแม่ตั้งแต่เด็ก ฟ้าใสไม่ยอมวิ่ง ทั้งๆ ที่มันวิ่งได้ จะใช้สองขาขยับตัวไปข้างหน้า

ฟ้าใสจะเกลียดคนมาก เมื่อก่อนยืนระยะห่าง 20 เมตรยังไม่ได้ เอาก้อนหินขว้าง แต่เวลานี้จากช้างที่ดุร้ายมาก กลายเป็นน่ารักมาก เราก็ทำทุกวิถีทางให้ฟ้าใสจิตใจอ่อนโยน บางทียืนร้องเพลงหลังต้นไม้ มันก็ยังใช้งวงจับก้อนหินขว้าง ควาญช้างยังบอกว่า แม่แสงเดือนเหมือนผีบ้า จนวันหนึ่งฟ้าใสยอมให้ลูบงวง กอดงวง จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์ร้องเพลงให้ช้างหลับ เพราะไม่จำเป็น แต่เพื่อลดความดุร้าย ตอนนี้ก็ยังกล่อมฟ้าใสด้วยเสียงเพลง และกล่อมช้างทั้งโขลงให้หลับ

ฟ้าใสไม่เคยอยู่กับแม่ หย่านมตั้งแต่เล็กๆ ตอนนี้มันดีขึ้น เวลามีช้างคลอดใหม่ มันจะไม่ไปไหนจะช่วยดูแลลูกช้าง เป็นพี่เลี้ยงพาลูกช้างไปกินนม มันจะใช้งวงรองน้ำนมจากลูกช้างเอามาดูดทำเสียงจุ๊บๆ เหมือนดูดนมแม่ มันคงโหยหาความรัก หรือเวลาช่วยเหลือช้างเชือกอื่นมา มันจะเข้าไปกอดและอยู่กับช้างเชือกนั้นทั้งวัน ดูเหมือนว่าฟ้าใสจะซึมซับความรู้สึกของช้างเชือกอื่นได้ กลายเป็นว่าฟ้าใสช่วยเยี่ยวยาช้างเชือกอื่นๆ ด้วย 

อยากให้คุณวิเคราะห์ปัญหาช้างป่าในบ้านเราสักนิด ?

เจ้าหน้าที่รัฐไม่ลงไปฟังความเห็นคนในพื้นที่ เพื่อเอาปัญหามาวิเคราะห์ หลายชั่วอายุคนเกิดสงครามระหว่างคนกับช้างไม่เคยจบ การสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นนับว่ารุนแรง มีการวางยาเบื่อ ตั้งไฟฟ้าช็อตช้าง ก็เป็นภาพไม่ดีสำหรับประเทศไทย ที่ไม่ออกสื่อยังมีอีกเยอะ ทั้งช้างและเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ แล้วจะทำยังไงให้ช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้ สิ่งแรกที่ควรทำคือ ไม่กระทำรุนแรงต่อช้าง ไม่เอาระเบิดไปขว้าง ไม่เอาไฟไปเผา

หลายคนก็บอกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้ ช้างทั้งโขลงจะบุกรุกพื้นที่ทำกิน?

ปัญหาคนกับช้างไม่ได้มีแค่ประเทศเรา อินเดีย ศรีลังกา อาฟริกา ต่างแก้ปัญหาให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างมีสุข ช้างมีที่อยู่ของมัน เมื่อเศรษฐกิจขยาย คนรุกรานพื้นที่ช้าง ตอนนี้ไม่ต้องมาพูดแล้วว่า พื้นที่ตรงนั้นช้างหรือคนอยู่มาก่อน เราต้องมาคุยว่า จะเปิดช่องว่างให้ช้างเดินในจุดไหน

ถ้ามีโอกาสแก้ปัญหาช้างป่า คุณจะวางแผนยังไง

ช้างต้องการที่อยู่ที่ปลอดภัย แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เราต้องสร้างแหล่งน้ำให้ช้าง จากการศึกษาพื้นที่ ไม่ว่าเขตแก่งกระจาน หรือเขาสอยดาว ไปดูพื้นที่ช้างเดิน ช้างต้องการหาแหล่งน้ำ มันเป็นสัตว์ใหญ่ต้องการน้ำวันละ 300 ลิตร ตรงไหนไม่มีน้ำ มันก็เดินเป็นร้อยๆ กิโลเมตรหาแหล่งน้ำ

ถ้าจะผลักช้างเข้าสู่ป่า ต้องสร้างแหล่งน้ำในป่า เรามีป่าสงวนเยอะแยะ เราไปดูหลายประเทศ บริเวณที่ช้างอยู่ ไม่มีการทำลายป่า ช้างจะอยู่ตามวิถีธรรมชาติ เราแก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ธรรมชาติให้ช้างอยู่ ป่ารอยต่อเรามีเยอะสามหมื่นกว่าไร่ เอาพื้นที่บางส่วนให้ช้างได้ไหม     

เมื่อไม่นาน พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เรียกไปพบเรื่องช้างป่า เพราะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานไปดูงานที่ศรีลังกา และรู้ว่า เราไปช่วยช้างในศรีลังกา แล้วทำไมไม่ช่วยช้างบ้านเรา ดิฉันเคยตามช้างป่าที่เล็บหลุดบนถนนเข้าป่า มันบาดเจ็บสาหัส ถูกรถชนบนถนนสองตัว อีกตัวหาไม่เจอ อีกตัวบาดเจ็บ ส่วนปัญหาคนที่ถูกช้างทำร้าย เราก็ไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต มีคนบอกว่า ขับรถเร็วชนช้างสามตันครึ่งลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วกระแทกลงมาทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเขตช้างป่า

คุณไปช่วยเรื่องช้างในศรีลังกายังไง

ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง จนกลายเป็นโมเดลการทำงาน โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมช้าง ให้ช้างกลับเข้าสู่ป่า ช้างเข้ามาที่ทำกินของชาวบ้านเพราะอาหาร ทำให้ชาวบ้านโกรธช้าง ทางเราก็ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ใจบุญ เอาเงินไปซื้ออาหารในหมู่บ้านให้ช้างในป่า และอีกหลายเรื่องที่เราทำ ตอนนี้ช้างไม่ได้เข้ามาในหมู่บ้านแล้ว ปกติจะออกมาเป็นโขลง รัฐบาลต้องสร้างแหล่งน้ำ และไม่ล้ำแดนช้างอยู่ ตอนนี้ช้างกลับเข้าป่า และไม่ต้องให้อาหารแล้ว แต่บ้านเราระเบิดลงช้างทุกคืน      

กว่าดิฉันจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ ต้องสู้หลายด่าน  ดิฉันทำงานกับต่างชาติเยอะ ก็รู้ว่าคนไทยมีดีเยอะ แต่มีจุดบอด เวลามีคนสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เราไม่ควรคิดเล็กคิดน้อย คิดส่วนต่าง นอกจากเรื่องช้าง ดิฉันทำเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ในลาวและกัมพูชา ปล่อยให้จีนทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยมีคนลาวเป็นลูกจ้าง แม่น้ำทุกสายเต็มไปด้วยสารเคมี และมีทำลายป่าอย่างย่อยยับ

เห็นบอกว่า ไปช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาเรื่องช้างในประเทศอื่นๆ ด้วย ?

ตอนนี้กำลังทำโครงการช่วยเหลือช้างที่ลาว  700 ไร่ โดยรัฐบาลลาวอนุมัติพื้นที่ให้ และมีโครงการอนุรักษ์ตัวนิ่ม เพราะถูกจับเยอะ รวมถึงช่วยทำงานที่อินโดนีเซีย แก้ปัญหาเรื่องช้างป่า เมื่อเร็วๆ นี้ประธานาธิบดีกาบองเชิญให้ไปดูเรื่องช้างป่าในอาฟริกา แต่จะไปเคนย่าก่อน เพราะมีปัญหาคนฆ่าช้าง ช้างฆ่าคน ซึ่งตอนไปทำงานที่ศรีลังกา เป็นโมเดลที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องช้างป่าได้

คนต่างชาติรู้จักคุณมากกว่าคนไทยไหม

 แค่ประกาศในเฟซบุ๊กว่า จะไปประชุมที่อังกฤษ จะมีคนโพสต์ชวนไปนอนที่บ้าน อย่างไปประชุมยูเอ็น ทั้งๆ ที่เขาออกค่าโรงแรมให้ คืนละเป็นหมื่น เราไม่อยากรบกวน เพื่อนที่ไม่รู้จักกันก็ให้ไปนอนที่บ้าน การทำงานของดิฉัน จึงได้คนแปลกหน้าเป็นเพื่อนเยอะมาก เพราะเราทำงานเมตตาคนและสัตว์ และคนรู้จักเราจากหนังสารคดี ข่าวต่างๆ ที่มาสัมภาษณ์จากบีบีซี เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค และดิฉันเพิ่งให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นที่นิวยอร์ค พวกเขาแวะมาที่ศูนย์บริบาลช้างเราด้วย

...................

(((เสียงกระดูกลั่น เมื่อช้างลากซุง)))

ถ้าอยากเข้าใจเรื่องช้างมากขึ้น การไปเที่ยว ไปดู ไปทำอาหารให้ช้าง ในศูนย์บริบาลช้างแห่งนี้ เป็นทางเลือกในการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยกันสนับสนุน เหมือนเช่นกลุ่มเดอะวิสดอม กสิกรไทย พาลูกค้าไปทำกิจกรรมตามแนวคิดว่า ให้ความสำคัญกับคุณค่าชีวิตมากกว่าความสำเร็จของตนเอง

นอกจากสนุกสนานในการเรียนรู้  หลายคนมีความสุขที่ได้ให้อาหารช้าง และช้างบางเชือกก็ขี้เล่น

จึงเป็นบรรยากาศดีๆ ที่หลายคนในทริป ยิ้มแย้มให้กันและกัน บางคนบอกว่า จะหาโอกาสกลับมาเป็นอาสาสมัครดูแลช้างและเก็บขี้ช้าง 

นี่คือสิ่งที่หลายคนได้ซึมซับและเข้าใจเรื่องช้างมากขึ้น และสัญญาว่า จะไม่รังแกช้างอีกแล้ว เพราะได้เห็นว่า ช้างที่ศูนย์บริบาลช้าง จ.เชียงใหม่ มีความสุขมาก เวลามันลงเล่นน้ำกับเล็ก ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้งศูนย์

และกว่าจะมีวันนี้ เธอทำทุกอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง...

อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นการช่วยเหลือช้าง ?

สามสิบปีที่แล้ว เราคิดว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีพละกำลัง คงไม่มีใครทำอะไรมัน ตอนนั้นเรายังเรียนอยู่มัธยมก็ไปเป็นอาสาสมัครในหมู่บ้านชาวเขา อ.สบเมย จ.เชียงใหม่ ไปเจอช้างลากไม้ มันเปลี่ยนความคิดเราเลย เพราะตอนที่อยู่ในหมู่บ้านได้ยินเสียงช้างร้อง เจอมันกำลังลากไม้จากร่องลำห้วยเล็กๆ ขึ้นเขา เป็นช้างแก่และผอมมาก ควาญช้างใช้มีดจิ้มไปที่หัว มันร้องโหยหวน 

จังหวะที่มันลากไม้ เสียงหายใจดังมาก เราได้ยินเสียงกระดูกในตัวมันลั่น มันพยายามทำให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ถูกทรมาน พอมันหยุดลาก ตามันมองมาที่เรา มันแสดงถึงความเจ็บปวด ความกลัว ความหมดหวัง เสียงร้องโหยหวนบาดลึกเข้าไปในหัวใจ กลับออกมาวันนั้นนอนไม่หลับ

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่มีความเข้าใจเรื่องช้างเลย ?

ช่วงปิดเทอมเราทำงานรับจ้างเสริฟที่โรงพยาบาลและเช็ดลูกโบว์ลิ่ง เพื่อเอาไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับการรักษาโรค และซื้อยาเพื่อจะเข้าไปหมู่บ้านเพื่อรักษาช้าง และพบว่า มันไม่ได้มีแผลที่เดียว มีหนองด้วย หนังหนาๆ ของมันที่เราล้างแผลให้ ก็ร่อนออกมา และมีแผลลึกที่โดนมีดแทง ยาที่เอาไปไม่พอ เพราะชาวบ้านเห็น ก็มาขอไปรักษาตัว  พอใส่ยาให้ช้างเสร็จ เจ้าของช้างก็บอกว่า อีกหมู่บ้านก็มีช้างป่วย ตอนนั้นอายุ 17 ปี ก็กลับไปชวนเพื่อนไปด้วย

      เราถามเจ้าของช้างว่า ทำไมเอาช้างตาบอด ช้างขาเป๋มาลากไม้ แล้วเมื่อไหร่ช้างจะได้พัก เขาก็บอกว่า ตอนที่มันตาย ตอนนั้นรู้สึกหมดหวัง และช่วงปิดเทอมทุกครั้งต้องเข้าไปที่หมู่บ้านเพื่อช่วยดูแลรักษาช้าง จนกระทั่งติดเชื้อมาลาเรีย ชาวบ้านต้องหามมานอนโรงพยาบาล

เมื่อตัดสินซื้อช้างเชือกแรกมาดูแล คุณทำยังไงบ้าง?

ทำงานอย่างหนัก ขายเครื่องสำอาง ขายเสื้อ ขายทุกอย่าง เก็บเงินได้หกหมื่นบาท เพื่อซื้อช้างเชือกแรก ปี 1992 ปรากฎว่าจะไปซื้อ มันตายแล้ว จนได้ข่าวว่า มีชาวฝรั่งเศสที่ได้เมียไทยอยากจะขายช้างแก่ๆ ราคาแสนบาท แต่เรามีหกหมื่นบาท ซึ่งตอนนั้นแม่เพิ่ม ช้างตัวแรกที่ซื้อมาอยู่กับเราสิบกว่าปี อ้วนสวยมาก จนเราซื้อช้างตาบอดมาอีกตัว ตอนนั้นยังไม่มีพื้นที่ เอาไปฝากเพื่อนที่ทำปางช้าง แล้วบอกว่า จะทำเป็นโครงการอนุรักษ์ช้าง ปรากฎว่าเขาไม่เห็นด้วย เพราะทำแบบนั้นจะได้เงินช้า

ตอนนั้นคุณทำงานอะไร

เป็นเจ้าของบริษัททัวร์พาฝรั่งท่องเที่ยว และเปิดซักอบรีดให้โรงแรม ได้เงินมาก็เอามาเลี้ยงช้าง เช่าที่ดินจ้างคนงานเลี้ยงช้าง จนวันหนึ่งปี 2003 มีฝรั่งคนหนึ่งบินมาเท็กซัสตามหาเรา เพราะเขาได้ข่าวจากเพื่อนนักเขียนว่า เราอยากซื้อที่ดินให้ช้างอยู่ ตอนนั้นเราไปเลี้ยงหมาจรจัดที่วัด และไปอาบน้ำให้หมา ซึ่งการตั้งมูลนิธิยากมาก เพราะที่ผ่านมาร้อยพันคำสัญญา บอกจะช่วยเหลือเรา ในที่สุดก็หายไป

ตอนนั้นเจ้าของที่ดิน 50 ไร่บอกจะขายราคาหกล้านห้าแสนบาท และฝรั่งคนนั้นให้เอาเบอร์บัญชีมา ซึ่งเราก็ไม่เคยหวังอะไร  จนมีเงินเข้าบัญชีเยอะ ผู้บริหารธนาคารโทรมาหาเพื่อตรวจสอบเพราะกลัวว่า จะเป็นการฟอกเงิน

กว่าจะค้นหาเพื่อนฝรั่งคนนั้นเจอก็หลายอาทิตย์ เพราะเราไม่ได้ขอที่อยู่เอาไว้ ไม่คิดว่าเขาจะช่วยเรา เขาเป็นเจ้าของบริษัทกาแฟ ครอบครัวเขารักสัตว์มาก  ตอนที่เราไปเบิกเงินมาซื้อที่ดิน เจ้าของที่ดินปิดประตูใส่หน้า ถามว่า มีเงินหรือ ถ้ามีจะขายให้ห้าล้านห้าแสนบาท แต่ต้องมัดจำก่อน เราก็เอาเงินมามัดจำหนึ่งล้านบาท ซื้อที่ดินแล้วจะเหลือเงินอีกหนึ่งล้านบาท ก็ขอฝรั่งคนนั้นว่าจะเอาเงินมาสร้างกระท่อมและซื้อรถเก่าๆ คันหนึ่ง

คุณถามเหตุผลฝรั่งที่ให้เงินซื้อที่ดินเพื่อทำศูนย์บริบาลช้างไหม

ทั้งๆ ที่เราไม่มีมูลนิธิ ไม่มีรถ อาจเอาเงินไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่เขาเชื่อใจ ตอนเจอกัน เขาบอกว่า ผมมองเข้าไปในตาของคุณ ผมเชื่อในความรู้สึกของผม และเมื่อเขาเห็นสิ่งที่เราทำ เขาร้องไห้เลย

อะไรที่ทำให้คุณมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม

วันที่แม่เสียชีวิต ตามธรรมเนียมคนเหนือจะเอาเงินยัดใส่มือบอกให้แม่เอาเงินไปด้วย ดิฉันคิดว่าแม่ไม่ได้เอาเงินไปด้วย สิ่งแม่ทิ้งไว้คือ แม่เป็นคนที่เอาใจใส่ผู้อื่น ตอนสมัยเด็กๆ ปู่เป็นหมอยารักษาคน เราเคยถามว่า รักษาคนไม่ได้เงินซักบาท ทำทำไม แม่บอกว่า สิ่งที่ได้รับคือ ความสุข นั่นคือสิ่งที่ดิฉันคิดว่า ความสุขที่ดิฉันสร้างให้ตัวเองคือ ได้เห็นคนอื่นมีรอยยิ้ม วันที่สัตว์เหล่านั้นซมซานมาหาเรา มันมีความทุกข์ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ สัตว์มีความสุข และเวลานี้ดิฉันมีลูกบุญธรรมจากบนดอยเยอะมาก และสัตว์ต่างๆ ที่หลุดจากความทุกข์ นี่คือความสุขของฉัน และสิ่งนั้นดิฉันจะนำติดตัวไปในวันที่จากโลกนี้ไป คือ สิ่งที่สวยงาม

ฺถ้าจะให้เด็กๆรักสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต้องปลูกฝังอย่างไร

ตอนเราเด็กๆ เห็นคนยิ่งกวาง เราชื่นชม เพราะมันเป็นอาหาร แต่พอเราได้รับการศึกษา เราก็คิดต่อว่าลูกกวางจะอยู่ยังไง หรือเรื่องการปล่อยนก เราไปทำสารคดีเรื่องนก นกถูกจับมาขังไว้นานมากจนบินไม่ได้ หลายคนคิดว่า ปล่อยนกได้บุญ จริงๆ แล้วเป็นบาป เพราะช่วงนกย้ายถิ่นฤดูหนาว คนจะมาจับลูกนกตอนแม่นกทำรังเลี้ยงลูก ปกติมันบินไปหาหนอนให้ลูกๆ สี่ห้าตัว ประมาณ 50-100 เที่ยว ถ้าเราจับนกจากเชียงใหม่ไปขายที่กรุงเทพฯ แม่นกไม่มีทางกลับมาหาลูกได้ เราก็เลยอยากบอกเด็กๆ ว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่เราต้องอยู่ร่วมโลกกันให้ได้

เวลาไปพูดในต่างประเทศ คำถามใดถูกถามมากที่สุด 

ส่วนใหญ่จะถามว่า รัฐบาลช่วยคุณไหม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านคุณคือเรื่องอะไร เราก็บอกว่า ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยยังตามหลังประเทศอื่นหลายสเต็ป สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคคือ ความเข้าใจของคนไทย ต้องใช้เวลาอีกนาน

""""""""""""""

 หมายเหตุ : สำหรับนักท่องเที่ยวไทย และอาสาสมัครคนไทยที่จะมาดูแลช้าง ศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ 

ดูรายละเอียดได้ที่เว็บ www.saveelephant.org ,www.facebook.com/SaveElephantFoundation  และเพจ lek.chailert หรือติดต่อเบอร์ 053 272 855