โยคะ กับการรู้จักตนเอง

โยคะ กับการรู้จักตนเอง

การเข้าสู่อาสนะที่สวยงามสมบูรณ์ไม่ใช่จุดหมายของ “โยคะ” การได้กลับมารู้จักและอยู่กับตัวเองต่างหาก คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด

ในงาน Thailand Yoga Art &Dance 2018 ที่จัดขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ ร่วมกับ บริษัท Makefriends จำกัด โรงแรมอ่าวนางรีสอร์ท จังหวัดกระบี่ เมื่อเร็วๆนี้

เราได้พบกับ ครูเล็ก ศิริรัชต์ กิติคุณาดุลย์ ครูโยคะเจ้าของคลาสอินเนอร์ไลฟ์ และ หมอดิน ศิรฐเมฆา เวฬุภาค แพทย์แผนทิเบตและครูสอนไทชิ ครูจากสองศาสตร์ที่ให้คำตอบได้ว่าการอยู่กับตนเองนั้นสำคัญอย่างไร

โยคะกับคนไม่เอาไหน

ก่อนจะเป็นครูสอนโยคะที่มีโปรแกรมเวิร์คช้อปแน่นมาก ทั้งในสตูดิโอของตัวเอง Wild Rose Studio และได้รับเชิญไปจัดเวิร์คช้อปและรีทรีตในต่างประเทศปีละ 11 ครั้ง ครูเล็ก ศิริรัชต์ กิติคุณาดุลย์ เล่าว่าเป็นคนทำอะไรก็ไม่เก่ง ไม่ว่าจะเรื่องเรียน กีฬา หรือแม้แต่ความกล้าในการใช้ชีวิต

“สมัยก่อนไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้ เป็นคนตัวเล็กด้วย ตอนนั้นอายุ 30 กว่า น้ำหนักอยู่ 43 กิโลกรัม มาเล่นโยคะแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดี มันก็เลยดึงอีโก้ตัวเองขึ้นมาจากคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง กลายเป็นคนที่มั่นใจขึ้นมาหน่อยว่าเราเป็นคนมีอะไรดีกับเขาบ้าง อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น

พอเรียนมาได้สักพักจึงได้รู้ว่าโยคะดีต่อสุขภาพ แต่ปัญหาของผมไม่ใช่เรื่องของสุขภาพ แต่เป็นเรื่องวิธีคิด

ตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองด้อยกว่าชาวบ้าน เป็นคนเรียนไม่เก่ง สอบตกประจำ ตอนอยู่โรงเรียนเวลาประกาศผลสอบเราถูกตีประจานอยู่บนเวทีเพราะสอบตก ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองโง่มาตลอด พอเรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยรังสิต ไปเรียนต่อคอมพิวเตอร์ อาร์ต ที่อเมริกา (Academy of Art University) เราก็รู้สึกอีกว่าเราเป็นเอเชียไปอยู่เมืองนอก แล้วใครจะมาจ้างเราทำงาน จ้างฝรั่งดีกว่าไหมเราพูดภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นใครจะมาจ้างรู้สึกอย่างนั้นตลอดเวลา

แต่โยคะทำให้ได้รู้สึกว่า อย่างน้อยฉันก็เล่นเก่งกว่าคนอื่นเขา มีบางสิ่งบางอย่างที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น ความที่เราตัวผอมอย่างคนเอเชีย ทำให้ร่างกายยืดหยุ่นกว่าฝรั่ง เริ่มเล่นโยคะที่อเมริกาเพราะรู้สึกดีต่อตัวเอง เลยเล่นมาตลอด”

โยคะกับวิธีคิด

หลังจากเรียนจบปริญญาโทและงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่สหรัฐอเมริกานาน 10 ปี ครูเล็กตัดสินใจกลับเมืองไทย แล้วไปเปิดร้านกาแฟที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ช่วงบุกเบิกเลย คนเยอะนะ แต่ไม่รู้เงินหายไปไหน อาจเป็นเพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจด้วย เลยถามตัวเองว่าเอาไงดี คิดได้ว่าโยคะเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด 15 ปี ไม่ต้องมีใครจ้างฉันก็เล่น เลยตัดสินใจไปเรียนศิวะนันทะโยคะที่อินเดีย กลับมาก็เริ่มสอนตั้งแต่นั้นมา”

เมื่อกลายมาเป็นครูสอนโยคะ ครูเล็กเริ่มหันมาสนใจเรื่องของการสะกดจิตและจิตใต้สำนึกมากขึ้น

“ต่อมาแฟนเสียชีวิต ทำให้เราสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ตอนนั้นไม่รู้จักหรอก โคชชิ่ง (Coaching ) เอ็นพีแอล (NLP Coaching Development) คืออะไร เรารู้สึกว่าเราคิดดี คือ เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตดีขึ้น เมื่อก่อนเราคิดว่าเราไม่มีเงิน อยากได้กางเกงยีนส์ตัวละ 75 เหรียญไม่มีปัญญาซื้อต้องรอให้แฟนซื้อให้ เราไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เราพลาดตรงไหน รู้แต่ว่าเราไม่เก่ง เราสู้คนอื่นไม่ได้ มันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ทุกอย่างมันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกว่าเราไม่เอาไหน เรียนไม่เก่ง สอบตก ลายมือไม่สวยแม่ก็ตี คนไม่เอาไหนจะไปเอาดีได้อย่างไร เมื่อเรามีความเชื่อเหล่านี้อยู่ ชีวิตเลยไปในสภาพแบบนี้”

ปลดล็อก

“พอเริ่มมารู้จักกับจิตใต้สำนึก เปลี่ยนความเชื่อเรื่องเงินก่อน จากที่คิดว่าเราไม่มีอะไรดีทำได้เท่านี้ เรา เปลี่ยนความคิดว่าเราก็มีดีไม่แพ้ใครเรารู้สึกว่าเงินเริ่มหาง่ายขึ้น จากนั้นมาเปลี่ยนเรื่องคุณค่าตัวเอง เปลี่ยนปุ๊บจากครูที่เข้ามาในวงการใหม่ๆเพียงครึ่งปีกระโดดขึ้นมาเป็นที่รู้จักเป็นแนวหน้าเลยเพราะว่าเลือกสอนสิ่งที่ไม่มีคนสอน

 เปลี่ยนความคิดอันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ผมเริ่มมองตัวเองว่าตัวเราเองไม่เคยเจ็บป่วย เราก็เลยไม่มีแพชชั่นที่จะไปรักษาชาวบ้านชาวเมือง แต่เราเคยอยู่ในภาวะด้วยวิธีคิดไม่ตรงนักทำให้ชีวิตเราเคยเป็นแบบนั้นแล้วพลิกชีวิตมาเป็นแบบนี้ได้ทำให้เรามีแพชชั่นที่จะสอนตรงนี้มากกว่า เลยสร้างหลักสูตรของตัวเองขึ้นมาเป็น.....อินเนอร์ไลฟ์โยคะ (Inner Life Yoga )”

อินเนอร์ไลฟ์โยคะ ไม่ได้เน้นว่าผู้เรียนจะเข้าท่าได้อย่างสวยงามสมบูรณ์ หากเป็นการปลดล็อกความกังวลใจของผู้เรียนที่แสดงผ่านการทำอาสนะในท่าต่างๆ

“ในท่าเรามองออกว่าใครเป็นคนขี้กลัว เครียด หงุดหงิด การที่คนเราจะปฏิบัติตัวแบบใดแบบหนึ่งมันต้องมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ว่าคุณจะเป็นคนขี้วีนยังไงพอมาอยู่บนเสื่อโยคะ คุณเป็นโยคีไม่ใช่ คุณเป็นอย่างไรข้างนอกเวลาอยู่บนเสื่อโยคะคุณก็เป็นอย่างนั้น

เพราะร่างกายเป็นตัวแสดงออกให้กับจิตในการสื่อสารกับโลกภายนอก เวลาผมไปจับท่าให้นักเรียนด้วยความที่เราเคยศึกษาเรื่องพลังงานมาก่อนพอจับปุ๊บ รู้สึกทำไมเศร้าอย่างนี้ฉันอยากจะร้องไห้ ถามว่ายูไปทำอะไรมาชีวิตทำไมถึงได้เศร้านัก นักเรียนได้ยินแล้วก็ร้องไห้ระบายเป็นเรื่องราวออกมา

ทุกสิ่งทุกอย่างมีคลื่นของมันอยู่ ดินหินก็มีพลังงาน ชีวิตของเราก็มีพลังงาน เพียงแต่ว่าเราจับสมองของเราให้รับรู้สิ่งที่เบาบางเหล่านี้ได้มั้ย ? ถ้าเราหามันได้เราก็จะได้รับข้อมูลจากสิ่งเหล่านั้นได้ เขาจะปิดก็ได้แต่ดวงใจของเขาจะส่งพลังงานที่แท้จริงออกมา เช่น สมองบอกว่าฉันเป็นคนดีแต่จิตใต้สำนึกเขาบอกว่าเขาไม่เชื่อว่าคนดีมีจริง พลังงานนี้มันส่งออกมาและส่งผลต่อชีวิตของเขาด้วย

พอเราเข้าไปสัมผัสพลังงานจริงๆของเขาได้ก็จะมีอินฟอร์เมชั่น ประสบการณ์ชีวิตมันฝังอยู่ตรงนั้น คือ ทุกคนรับได้หมดแต่เราเคยสังเกตหรือเปล่า บางทีเราไปเข้าใกล้ใครบางคนแล้วรู้สึกดีจังเลย บางคนก็หงุดหงิดจังเลย คือเรารู้สึกถึงพลังงานเขาได้

ผมเก็บข้อมูลมา 3 ปี ว่างสิ่งที่เราสงสัยนักเรียนมันจริงหรือไม่เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เรารับมาถูกต้อง เรารู้สึกว่านักเรียนบางคนได้ประโยชน์จากที่เราคอนซัลท์เขา ทำให้คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่จะไปสอนท่าพิสดารให้นักเรียน

ผมฝึกโยคะมา 20 กว่าปี ความตื่นเต้นในการฝึกอาสนะมันมีไม่มากแล้วเพราะว่าเราทำท่าได้หมด ถึงท่าไหนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน เลยมามองว่าถ้าคุณยืนบนมือได้ชีวิตคุณเปลี่ยนไหม ถ้าคุณฉีกขาได้ชีวิตคุณดีแค่ไหน แต่ถ้าผมสามารถทำให้คุณรู้ว่าพลังของจิตคุณ ถ้าคุณคิดว่าทำไม่ได้พลังงานของคุณตกลงไปแค่ไหน กับถ้าคุณบอกว่าฉันทำได้พลังงานของคุณจะขึ้นมาแค่ไหน เรานำเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมมาทำเป็นรูปธรรม พอเขาเชื่อ ถ้าคุณเปลี่ยนความคิดอาสนะที่คุณว่ายากจะเปลี่ยนทันที คุณไม่เคยเอามือแตะเท้าได้ ไม่ต้องรอสามเดือน ทำให้ดูได้เลย ตอนนี้เลย”ครูเล็ก อธิบาย

“ถ้าไม่ได้ เพราะอะไร ต้องมาดู พอคิดว่าไม่ได้เพราะคุณบอกว่าตัวคุณแข็งแต่ถ้าย้อนกลับไปในเรื่องจิตใต้สำนึกเวลาเราลงไปในท่าแล้วเกิดความเจ็บปวด พอครูมากดเรายิ่งเกร็งต้าน พอเราเจ็บปุ๊บระบบประสาทจะส่งสัญญาณขึ้นไปที่สมองๆจะแปลความหมายนี้ว่าอันตราย

จากนั้นสมองส่งสัญญาณมาให้เนื้อเยื่อหดตัวเพื่อให้ป้องกันตัวเอง พอเรารู้สึกตึงเราก็กดดันต่อ มันก็ยิ่งอันตราย ร่างกายจึงบอกว่าท่านี้นำมาซึ่งความเจ็บปวด พอพรุ่งนี้มาทำท่านี้ร่างกายต้านเรียบร้อยแล้ว เราจะทำอย่างไรให้สมองคิดว่าท่านี้คือรางวัล ถ้ารู้สึกว่าทำท่านี้ด้วยความสนุกเฮฮา ทำแล้วรู้สึกดีร่างกายจะไม่ต้าน หลักการคือแบบนี้ เราใช้กลอุบายกับสมองเราอย่างไร

ตอนหลังผมไม่สนใจว่าจะเข้าท่าได้สมบูรณ์หรือไม่ มาให้ความสำคัญในเรื่องความคิดมากว่า เช่น ทำไมคุณถึงผ่อนคลายไม่เป็น อะไรคือสาเหตุ เราพาเขาไปเห็นตัวเองก่อน เมื่อเห็นตัวเองแล้วเขาจะมีทางเลือกว่าจะเปลี่ยนหรือไมเปลี่ยน ถ้าเขาคิดว่าแฮปปี้กับที่เป็นอยู่แล้วก็เปลี่ยนไม่ได้ เขาจะต้องเห็นก่อนว่าถ้าเปลี่ยนอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เปลี่ยนชีวิตจะเป็นยังไง คลาสไม่เน้นท่าสวยเน้นว่าชีวิตคุณเปลี่ยนแค่ไหน”

นั่นเป็นเพราะ “เป้าหมายของโยคะ คือ ทำให้ชีวิตดีขึ้น yoga is a life transformation. ถ้าเล่นโยคะแล้วชีวิตไม่ทรานซ์ฟอร์มมันก็ไม่ใช่โยคะ มันกลายเป็นกายกรรม”ครูเล็กบอกกับเรา

โยคะกับไทชิ คือเรื่องเดียวกัน

“โยคะ เราไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้ได้ท่าที่สวย แต่เราเรียนรู้ที่จะกลับมาอยู่กับตัวเอง รับรู้ว่าสภาวะตอนนี้ของตัวเราเป็นอย่างไร ไทชิก็เหมือนกันทำให้เรารับรู้ว่าเราเหยียบอยู่บนพื้นแรงที่เราส่งไปที่พื้นสะท้อนกลับมาที่ตัวเรา มันคือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ถ้าเราเห็น รับรู้เข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้”

 ศิรฐเมฆา เวฬุภาค ผู้สนใจศาสตร์ของมวยจีนจนทำให้ออกเดินทางไปศึกษาการแพทย์แผนทิเบต จนกลายเป็น “หมอดิน” ในวันนี้ กล่าว

“ตอนอายุ 17-18 ปี ผมไปศึกษาแพทย์แผนทิเบต ที่ชุมชนทิเบตพลัดถิ่นธรรมศาลา ประเทศอินเดีย

เป็นการแพทย์ที่ดูแลจิตใจ ร่างกาย เป็นภูมิปัญญาของทิเบตที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา เขาเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บมาจากความไม่รู้ ได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง ทำให้เราเจ็บป่วยทางใจและทางกาย เราอยากได้บางอย่างมากเกินเราทำมากเกินทำให้เจ็บป่วยได้ ด้วยความไม่รู้

เราบอกไม่รู้หรอกว่าความไม่รู้มันเกิดขึ้นตอนไหนแต่มันก่อให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น เราอยากได้สิ่งของบางอย่างเรารู้ว่าต้องทำงานเพื่อที่จะได้แลกกับสิ่งนั้นมา จนลืมดูไปว่าสภาวะอาจยังไม่พร้อมเช่น นอกดึก กินอาหารไม่ดี ชีวิตเร่งรีบตลอดเวลา เพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เหมือนเราทำงานหนักเพื่อหาเงิน ท้ายสุดก็นำเงินนั้นมาดูแลสุขภาพ”

ไม่ว่าจะฝึกโยคะหรือไทชิ ในทัศนะของครูดินนั้นคือ การได้กลับมาเรียนรู้และอยู่กับตัวเอง

“หลายคนที่มาฝึกไทชิ มักจะมีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น ทำไมเวลายืนรู้สึกปวดขาจังเลย บางคนก็รู้สึกว่าไม่สบายเข่า

ผมก็บอกว่าปกติเรายืนเราแทบไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อขาเลย เรายืนด้วยการใช้กระดูกต้นขาตั้งกับกระดูกเชิงกรานอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นกล้ามเนื้อจึงไม่มีความแข็งแรงอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น

ถ้าเราดรอปต้นขาลงทำให้กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น ยืนในแบบที่เรายืนสมัยเป็นเด็ก ตอนที่เราตั้งไข่ สังเกตดูจะเห็นว่าก่อนที่เด็กจะยืนเขารับรู้แรงกดที่ลงไปที่พื้นด้วยการใช้มือยันก่อน แล้วพื้นจะส่งแรงขึ้นมาจนค่อยดันตัวขึ้นในที่สุด การยืนแบบนี้คือการยืนที่ถูกต้องและรับรู้พลังงานที่ส่งมาจากพื้น

ตลอดการฝึกไทชิเราจะยืนท่านี้ เป็นการเรียนรู้กล้ามเนื้อ เหมือนผมบอกว่า ผมไม่แบ่งแยกไทชิกับโยคะ คือการที่กลับมาเรียนรู้ตัวเอง”

พลังงานจากพื้นดินสำคัญอย่างไร หมอดินอธิบายว่า

“เรายืนบนพื้น แรงที่มาก็มาจากพื้น เวลาที่เรากดเท้าลงพื้นเลือดไหลเวียนลงล่างถ้าเราไม่กดเท้าเลือดจะยังค้างอยู เหมือนเรานั่งนานๆกล้ามเนื้อไม่มีการขยับขาจะบวม การที่เรายืนหรือนั่งกดเท้าลงเราก็จะได้รับพลังจากพื้นที่สะท้อนกลับมาทำให้เลือดไหลเวียน การนั่งการยืนเรื่องเดียวกันทำยังไงให้เราปฏิสัมพันธ์กับแรงที่ส่งมาจากพื้น”

วิธีการรำมวยจีนแบบไทชิ กับการฝึกโยคะ แม้จะมีรายละเอียดในการเข้าท่าที่แตกต่างกัน หากมีจุดหมายเดียวกัน คือ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง ทำความเข้าใจกับจิตและกายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดนั่นเอง