'ภูมิใจไทย' เปิดสาขาพรรคที่บุรีรัมย์ หวังลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน

'ภูมิใจไทย' เปิดสาขาพรรคที่บุรีรัมย์ หวังลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน

"ภูมิใจไทย" เปิดสาขาพรรคที่บุรีรัมย์ ใช้ “บุรีรัมย์ โมเดล” หาเสียงพัฒนาชาติ หวังลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ที่ห้องประชุม “ชัย ชิดชอบ” ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อจัดตั้งสาขาพรรคภูมิใจไทย จังหวัดบุรีรัมย์

จากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้ทำหน้าที่ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ โดยที่ประชุมได้เลือกนายสนอง เทพอักษรณรงค์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์ 2 สมัย เป็นหัวหน้าสาขาพรรคภูมิใจไทย จ.บุรีรัมย์

ส่วนคณะกรรมการสาขาพรรค ประกอบด้วย นายสนอง เทพอักษรณรงค์ หัวหน้าสาขาพรรค นายแพ เดชพร นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา รองหัวหน้าสาขาพรรค นายวิฑูรย์ เทพอักษรณรงค์ เลขานุการพรรค นายสายเพชร โพธิ์ศรี นายสุวัฒน์ เทพอักษรณรงค์ รองเลขานุการพรรค นางวิมลนันท์ ทิมาตฤกะ เหรัญญิกสาขาพรรค นายทะเบียนสาขาพรรค นางอรพรรณ วัชรโพธิ์ โฆษกสาขาพรรค ร.ต.ต.สมชาย ภิรมย์ชาติ กรรมการสาขาพรรค นางรุ่งนภา ช่วยรัมย์ และนายเทือง โกยรัมย์

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เห็นสมาชิกพรรคมาร่วมกันจัดตั้งสาขาพรรค จ.บุรีรัมย์ เป็นจำนวนมาก สิ่งนี้บ่งบอกให้เห็นถึงพลังของคนบุรีรัมย์ที่พร้อมจะเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เพื่อนำแนวคิดของพรรคไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ “บุรีรัมย์ โมเดล” ที่สร้างความเจริญให้กับคนบุรีรัมย์ จนเป็นที่ยอมรับและกระจายไปเป็นต้นแบบการพัฒนาของหลายจังหวัด

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ พรรคภูมิใจไทยพร้อมจะเสนอแนวคิด ภายใต้นโยบาย “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน” นโยบายที่เตรียมจะนำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ขณะนี้พรรคพร้อมเสนอและขอให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยจะมีประเด็นหลักเช่น การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. การศึกษาทางเลือกด้วยเทคโนโลยีใหม่ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อยกระดับการศึกษาของคนไทย การนำระบบแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรมมาใช้กับพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ยาง ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง การส่งเสริมสนับสนุนให้อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ เพื่อยกระดับเป็นหมอครอบครัว ดูแลประชาชนในชนบทและจัดให้มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรม