กรมอนามัย แนะ 5 กฎเหล็ก คุมเข้มถังน้ำอาคารสูงให้สะอาด ปลอดภัย

กรมอนามัย แนะ 5 กฎเหล็ก คุมเข้มถังน้ำอาคารสูงให้สะอาด ปลอดภัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 5 ข้อปฏิบัติสำหรับนิติบุคคลหรือผู้ดูแลอาคารสูงประเภทคอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ อาคารสำนักงาน เพื่อดูแลความสะอาดของถังสำรองน้ำสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัย ไม่ปนเปื้อน

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาคารสูงประเภทคอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ อาคารสำนักงาน ส่วนมากจะมีการสำรองน้ำประปาไว้บนชั้นดาดฟ้าของอาคาร โดยจะมีบ่อเก็บน้ำ ใต้ดินก่อนที่จะสูบน้ำขึ้นไปพักไว้ในถังพักบนชั้นดาดฟ้า จากนั้นจึงจ่ายให้แก่ผู้พักอาศัยตามห้องต่างๆ การจัดการหรือการดูแลรักษาระบบสำรองน้ำในอาคารสูงนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คุณภาพน้ำสะอาดอยู่เสมอ โดยนิติบุคคลหรือผู้ดูแลอาคารสูงควรปฏิบัติดังนี้ 1) สำรวจสถานที่ตั้งของถังน้ำ พื้นที่ตั้งควรมีขอบเขตชัดเจน มีหลังคาคลุม บริเวณทั่วไปต้องสะอาด ไม่มีน้ำขัง ไม่มีสิ่งของวางเกะกะรกรุงรัง สามารถป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้าไปรบกวน เช่น สุนัข แมว นก หนู ถังน้ำไม่ควรตั้งกับพื้นควรวางยกสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 15 เซนติเมตร มีแสงสว่างเพียงพอที่จะสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติในถังน้ำได้ นอกจากนั้นควรมีการป้องกันไม่ให้ผู้ไม่มี ส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปบริเวณดังกล่าวด้วย 2) เลือกและดูแลถังน้ำ ถังน้ำต้องทำมาจากวัสดุที่ปลอดภัย เหมาะสมสำหรับบรรจุน้ำบริโภค เช่น สแตนเลส ไฟเบอร์กล๊าส พลาสติก เป็นต้น สภาพถังน้ำไม่ชำรุดแตกร้าว โดยเฉพาะฝาปิดต้องอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ทำความสะอาดง่ายถังน้ำบนดินที่ออกแบบอย่างถูกต้องควรมีช่องระบายน้ำทิ้งด้านล่างสุด เพื่อความสะดวกเวลาล้างทำความสะอาดถัง

“ทั้งนี้ ก่อนนำน้ำประปามาใส่ในครั้งแรกควรทำความสะอาดถังก่อนด้วยน้ำสะอาด และควรล้างอย่าง   ถูกวิธีทุกๆ 6 เดือน โดยการล้างในขั้นตอนสุดท้ายต้องใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค เข้มข้น 50 ppm. ใส่ถังให้เต็มแช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วปล่อยทิ้งก่อนนำน้ำประปามาใส่ตามปกติ 3) รักษาคุณภาพน้ำ ส่วนมากอาคารสูงจะใช้น้ำประปา ซึ่งอาจจะเป็นจากการประปาจากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาคหรือองค์กรปกครอง  ส่วนท้องถิ่น โดยคุณภาพน้ำจากระบบผลิตน้ำประปานั้นส่วนใหญ่ได้มาตรฐานทั้งทางด้านกายภาพ เคมีและแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังมีคลอรีนอิสระในน้ำหลงเหลืออยู่ 0.2-0.5 ppm. แต่เมื่อนำมาใส่ถังน้ำสำรองคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำนี้ก็จะสลายหายไปจนไม่มีเหลือเลย ดังนั้น ผู้ดูแลต้องตรวจหาปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะถังสำรองน้ำบนอาคาร หากไม่พบควรจะมีการเติมคลอรีนเพิ่มให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่ต่ำกว่า 0.2 ppm. ตลอดเวลา” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

อธิบดีกรมอนมัย กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อปฏิบัติที่ 4) จัดให้มีผู้ดูแล ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้หรือได้รับ การอบรมในด้านการจัดการคุณภาพน้ำ เช่น วิธีการเติมคลอรีนในน้ำ การล้างถังที่ถูกต้อง การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้วยเครื่องมือหรือชุดทดสอบภาคสนาม และต้องจัดระบบการดูแล โดยแบ่งเป็นงานประจำวัน เช่น การตรวจคุณภาพน้ำอย่างง่าย งานประจำสัปดาห์ เช่น การสำรวจสภาพถังน้ำ งานประจำเดือน เช่น งานสำรวจ ซ่อมแซมระบบจ่ายน้ำ งานประจำ 6 เดือน เช่น การล้างถังน้ำ และงานประจำปี เช่น การล้างถังน้ำ การซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น และ 5) มีการป้องกันสัตว์นำโรค โดยควรมีรั้วรอบขอบชิด แต่หากเป็นอาคารมีหลังคาคลุมควรมีการป้องกันพวกนก หนู เข้าไปทำรังหรือพักอาศัย เช่น มีตาข่ายกั้น ป้องกันนกไปทำรังหรืออาศัยเวลากลางคืน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของน้ำในถังจากสิ่งสกปรกต่างๆ