SMEs Smart Province ดันผู้ประกอบการเข้าระบบ 1 ล้านราย ภายใน 10 ปี

SMEs Smart Province ดันผู้ประกอบการเข้าระบบ 1 ล้านราย ภายใน 10 ปี

“สภาเอสเอ็มอี” เสนอรัฐแก้ปัญหาเอสเอ็มอี จัดโครงการ SMEs Smart Province สร้างความร่วมมือภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา สร้างแบรนด์รายจังหวัด ตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบได้อีก 1 ล้านราย ใน 10 ปี ช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อที่ยังกระจุกตัว

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.61 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 3 ล้านราย มีส่วนแบ่งรายได้ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 39% แต่มีเอสเอ็มอีที่เข้าสู่ระบบเพียง 1 ล้านราย แบ่งเป็นเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ประมาณ 6 แสนราย และเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบของธนาคารซึ่งมีการจัดทำบัญชีเดียวอย่างถูกต้องประมาณ 4.68 ล้านราย ขณะที่เอสเอ็มอีที่เหลืออีก 2 ล้านรายไม่ได้อยู่ในระบบทำให้การขอสินเชื่อเพื่อดำเนินการธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่สามารถที่จะทำได้ เห็นได้จากวงเงินสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีที่ภาครัฐมีการจัดสรรให้กว่า 1.5 แสนล้านบาท มีเอสเอ็มอีที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ไม่กี่หมื่นรายเท่านั้น

ดังนั้น สภาเอสเอ็มอีจึงเสนอให้มีการผลักดันโครงการ SMEs Smart Province เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการระดับจังหวัด และพัฒนาสินค้าเด่นสร้างเป็น Brand Province โดยนำสินค้าที่มีจุดเด่นในจังหวัดมาสร้างเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งทำให้เอสเอ็มอีในแต่ละจังหวัดมีเป้าหมายมากขึ้น ทั้งนี้มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าระบบไม่น้อยกว่า 500,000 รายใน 5 ปี และ 1 ล้านรายภายใน 10 ปี

โดยการดำเนินโครงการจะใช้กลไกความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา จากในระดับจังหวัดรวมกับกลไกในระดับประเทศ เริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งจากระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งทุน และองค์ความรู้ต่างๆ โดยบูรณาการความร่วมมือและใช้กลไกทุกภาคส่วนของจังหวัดในการขับเคลื่อนทั้งระบบ ประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาและขนาดย่อม (สสว.) ภาคเอกชน ได้แก่ สภาเอสเอ็มอีจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาคม มูลนิธิ วิสาหกิจ ชุมชน และบริษัทประชารัฐ ภาคการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)และมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ในจังหวัด และภาคสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐที่อยู่ในจังหวัด

ทั้งนี้ ความร่วมมือของโครงการมีวัตถุประสงค์การดำเนินการเพื่อแก้ไขใน 3 ประเด็นปัญหาหลักของ SMEs คือ ด้านการตลาด โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยการรับรองระบบคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การได้ตรามาตรฐานฮาลาล และการสร้าง Brand Province โดยความร่วมมือกับบริษัทประชารัฐในการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ ได้แก่ ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุ

ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับธนาคารให้ความรู้กับ SMEs ในการเตรียมตัวขอสินเชื่อ ธนาคาร และการเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีเดียว โดยการจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการทั้งที่เข้าระบบแล้วและยังไม่เข้าระบบให้ทราบแนวทางและการเตรียมตัวเพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งทุนภาคสถาบันการเงินในอนาคตได้และการให้องค์ความรู้ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้คนรุ่นใหม่สำเร็จออกมาเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีคุณภาพ รวมทั้งการสนับสนุนติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้ประกอบการ ด้วยหลักสูตรการศึกษาไร้ปริญญา และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ