สศช.ชี้จ้างงานไตรมาส 3 เพิ่มสูงสุด 22 ไตรมาส

สศช.ชี้จ้างงานไตรมาส 3 เพิ่มสูงสุด 22 ไตรมาส

สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3/2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ส่วนจ้างงานนอกภาคเกษตรโตสูงสุด 3 ปี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2561ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ การเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัดที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงจากคดีอาญาและอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การฆ่าตัวตายและการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงาน รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง “คนรุ่นใหม่กับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ” โดยมีสรุปสาระดังนี้

ไตรมาสสามปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ซึ่งการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะ (1) สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557เป็นต้นมา (2) สาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 (3) สาขาการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม (4) สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และ(5) สาขาการขายส่ง การขายปลีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9

ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ลดลงเทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปี2560 โดยเป็นการลดลงของทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานและที่ไม่เคยทำงานร้อยละ 11.5 และ 22.2 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า อัตราการว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น ขณะที่อัตราการว่างงานในระดับ ปวส. ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนเทียบกับในช่วงปี 2560 และครึ่งแรกของปี 2561

กลุ่มผู้ทำที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลับปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 ขณะที่กลุ่มผู้มีงานทำต่ำระดับ หรือทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่ม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.5 สะท้อนสภาวะการทำงานที่ยังไม่เต็มศักยภาพของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีผู้ทำงานต่ำระดับสูงประมาณ 236,065 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานในภาพรวมที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 0.6

ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับค่าจ้างแรงงานที่ขยายตัวขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานภาพรวมทั้งระบบและภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อหักเงินเฟ้อร้อยละ 1.5พบว่า ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ขณะที่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนในภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5

แสดงให้เห็นการปรับตัวของค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มการจ้างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 สถานการณ์การจ้างงานและตลาดแรงงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผ่อนคลายของแรงกดดันต่อการส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้

ไตรมาสสามปี 2561 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้วจากร้อยละ 2.72 ในไตรมาสสองปี 2561 เป็นร้อยละ 2.73ในไตรมาสนี้

ด้านการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7

ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงร้อยละ 0.2 การสร้างความรู้พื้นฐานทางการเงิน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการสร้างวินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนควรได้รับการปลูกฝัง สร้างทักษะและวินัยทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมทักษะทางการเงินที่ดีในหลายเรื่อง อาทิ การให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน การทำบัญชีครัวเรือน การบริหารรายรับรายจ่าย การควบคุมการสร้างหนี้เกินความสามารถในการจ่ายคืน ตลอดจนการส่งเสริมการออมทั้งระบบโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกรักการออมให้กับเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัด และต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำที่ระบาด จากการเดินทางข้ามประเทศ

ไตรมาสสามปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 5.2 โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2และผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 109.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี แต่สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อเป็นโรคหัดมักจะมีอาการรุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การป้องกันทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนและหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วย นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำจากการเดินทางข้ามประเทศ ได้แก่ โรคหัดเยอรมัน พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและโรคเมอร์สมีการระบาดล่าสุดที่ประเทศเกาหลีใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำผู้เดินทางป้องกันตนเองก่อนเข้าออกประเทศที่มีการระบาด ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังโรคที่ติดมากับผู้เดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.5 และ 13.7 ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่คิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่น้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560รวมทั้งเมื่อวันที่ 15กันยายน พ.ศ. 2560ได้มีการปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ให้สูงขึ้น ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ลงนอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก อาทิ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้คนไทย ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรณรงค์ร่วมกับสถานศึกษาและกิจกรรมงานบุญประเพณี วันสำคัญ และเทศกาลต่างๆ เช่น “งดเหล้าเข้าพรรษา” “สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์” “เลี้ยงเหล้าในงานบุญเท่ากับบาป” การกำหนดพื้นที่สาธารณะปลอดจากบุหรี่ เป็นต้น การใช้กลไกประชารัฐและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่จะช่วยบูรณาการการดำเนินงานในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

คดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสารเสพติดและการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา

คดีอาญารวมในไตรมาสสามปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 11.7 และ 9.8 ตามลำดับ ขณะที่คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.5 ของคดีอาญารวมผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ถูกจับกุมจำแนกตามข้อหาอันดับแรก ได้แก่ เสพร้อยละ 64.1 ช่วงอายุ 20-24 ปี ถูกจับกุมมากที่สุดร้อยละ 23.1 ของผู้ต้องหายาเสพติดทั้งหมด มีผู้เข้ารับการบำบัด 173,579 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ยาเสพติดที่ต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในขณะนี้ ได้แก่ เฮโรอีน และคีตามีน ภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหา และสอดส่องพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดอาชญากรรม โดยครอบครัวและสถานศึกษาต้องเป็นกำลังหลักร่วมสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนให้เกิดภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันอาชญากรรม หน่วยงานภาครัฐดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันอาชญากรรมโดยรวมในระดับพื้นที่ ชุมชนควรเข้าร่วมเครือข่ายในชุมชน เช่น โครงการหมู่บ้านสีขาว "ปลอดอาชญากรรม ปลอดยาเสพติด” โครงการโรงงานสีขาว มีระบบเฝ้าระวังปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้การป้องปรามอาชญากรรมยาเสพติดในชุมชนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเร่งลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสามปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560ร้อยละ 13.1 จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 17.4 และร้อยละ 28 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 19.3 ของประเภทรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาโดยตลอด และได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์รองรับความปลอดภัยขึ้นมา โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการ ดังนี้ (1) ด้านบุคคล ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด (2) ด้านสิ่งแวดล้อม ออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น (3) ด้านกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายและการกำหนดบทลงโทษให้มีความเหมาะสม (4) ด้านการจัดการความเร็ว การตั้งด่าน การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (5) มาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ อุปกรณ์ภายในรถยนต์ และเพื่อสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุตลอดทั้งปีควรให้ความสำคัญกับ (1) เพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการโดยการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและกลไกการประเมินผลที่ครบวงจร (2) เร่งปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ ส่งเสริมให้มีวินัยจราจรตั้งแต่เด็กจนโตและเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน (3) ยกระดับความปลอดภัยของยานพาหนะและถนนตามมาตรฐานสากล (4) สร้างสภาพแวดล้อมรอบถนนที่ปลอดภัย อาทิ จุดกลับรถ ภูมิทัศน์โดยรอบถนน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุสองข้างทาง

การฆ่าตัวตาย : แก้ไขปัญหาได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่พบว่ามีคนที่พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงกว่า 10 เท่าตัว โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 รายต่อปี ในปี 2560 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,934 คน หรือมีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 6.03 ต่อประชากรแสนคน โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 4.4 เท่า พบการฆ่าตัวตายมากสุดในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 40-49 ปี และการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ครอบครัวมีปัญหา ปัญหาการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังทางกายและขาดการดูแล ปัญหาเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด การป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายควรเริ่มต้นจากครอบครัว ซึ่งเป็นพลังสำคัญและอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด โดยบุคคลในครอบครัวต้องร่วมมือในการสร้างความรักและความเข้าใจ โดยใช้ 3 ส. ป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สื่อสารที่ดีต่อกัน และใส่ใจรับฟังนอกจากนี้ สังคมและประชาชนต้องร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยการสังเกตสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม หรือจากสัญญาณเตือนโพสต์ลงในโซเซียล ต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือดูแล หรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจก็จะสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ในระดับหนึ่ง

การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงาน

ในปี 2561 World Economic Forumได้เผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 พบว่า ภาพรวมประเทศไทยถูกจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันอยู่อันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลก โดยปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 40 จาก 135 ประเทศ ในปี 2560 โดยเฉพาะมิติทางด้านกรอบการบริหารเชิงสถาบัน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการปรับตัวทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม มิติทางด้านแรงงานกลับมีคะแนนและอันดับลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงมาอยู่อันดับที่ 44 จากอันดับที่ 38 ในปี 2560 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งด้านที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด (อันดับโลกต่ำกว่า 80) ได้แก่ (1) ต้นทุนในการออกจากงาน เพราะค่าเฉลี่ยของการจ่ายเงินชดเชยการให้ออกจากงานของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (2) ความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้างแรงงาน ที่แต่ละบริษัทค่อนข้างมีอิสระในการกำหนดค่าจ้างได้เอง แต่ต้องอิงกับอัตราค่าจ้างที่ประกาศโดยภาครัฐ และ (3) สิทธิแรงงาน พิจารณาจากเสรีภาพของแรงงานสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานและสิทธิในการประท้วงหรือนัดหยุดงานเป็นสำคัญ แม้ว่าบทบัญญัติทางกฎหมายจะครอบคลุมระยะเวลาค่าตอบแทนและค่าชดเชยในการทำงานแต่ยังขาดประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในสามด้านดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดเนื่องจากเชื่อมโยงกับประเด็นการคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน อย่างไรก็ตาม สามารถทำได้โดยการยกระดับขีดความสามารถทางด้านแรงงานในมิติอื่นๆ ให้ดีขึ้น เช่น การเสริมสร้างและขยายการเข้าถึงมาตรการด้านแรงงานเชิงรุก การกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด การให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพแรงงาน การเพิ่มบทบาทภาครัฐในฐานะสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและแรงงานเพื่อจับคู่ตำแหน่ง และการเตรียมความพร้อมแรงงานให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก เป็นต้น