ยูเนสโกยก ‘โขนกัมพูชา’ มรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้

ยูเนสโกยก ‘โขนกัมพูชา’ มรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้

ยูเนสโกจัดให้โขนกัมพูชาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต้องการการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน

เว็บไซต์พนมเปญโพสต์รายงานอ้างถ้อยแถลงจากการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์กัมพูชาว่าองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนให้ “ละครโขน” กัมพูชาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต้องการการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน ความสำเร็จนี้เป็นผลจากรัฐบาลให้ความสนใจ รวมถึงความพยายามของผู้บริหารกระทรวง และแรงสนับสนุนจากนักแสดง หน่วยงานผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านวิจิตรศิลป์และวัฒนธรรม รวมถึงประชาชน

“มรดกทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ในประเทศ ช่วยให้กัมพูชาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในเวทีมรดกโลก การที่ยูเนสโกจัดให้ละครโขนเป็นมรดกโลกถือเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึี่งของชาติ” ถ้อยแถลงกระทรวงวัฒนธรรมระบุ

ข้อมูลขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชากล่าวว่า ละครโขนมีมาตั้งแต่สมัยเมืองพระนคร (อังกอร์) ยุคต้น เชื่อว่าแสดงครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 9 แสดงโดยผู้ชายทั้งหมด เล่นเรื่องรามายณะเรื่องเดียว โดยมีการแสดงและเล่าเรื่องประกอบพิณพาทย์ เดิมทีกัมพูชมีโขนอาชีพ 8 คณะ แต่ถูกทำลายไปช่วงสงคราม ปัจจุบันเหลือเพียงคณะเดียวที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นคือWat Svay Andet ในจังหวัดกันดาล ห่างจากกรุงพนมเปญ 15 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนโขนเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 คณะกรรมการเห็นชอบระหว่างการประชุมครั้งที่ 13 ที่กรุงพอร์ตหลุยส์ของมอริเชียส วานนี้ (28 พ.ย.)

การประชุมยูเนสโกปีนี้ มีรายชื่อวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ที่ต้องพิจารณาทั้งหมดราว 50 รายการจากหลายประเทศ รวมถึง โขน จากประเทศไทย โดยการพิจารณาจะเรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ ในส่วนของโขนของประเทศไทยนั้น คาดว่า จะเริ่มพิจารณาการยื่นขอจากประเทศไทยช่วงสายของวันนี้ คาดว่าจะรู้ผลภายในวันเดียวกัน หรือวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.61)