อย.แจงปรับสถานะยาแก้แพ้ 'ลอราทาดีน' หวังคนเข้าถึงยา

อย.แจงปรับสถานะยาแก้แพ้ 'ลอราทาดีน' หวังคนเข้าถึงยา

อย.แจงปรับสถานะยาแก้แพ้ "ลอราทาดีน" หวังคนเข้าถึงยา ย้ำทั่วโลกส่วนใหญ่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถซื้อในร้านขายยาทั่วไปได้

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวกรณีปรับสถานะยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน” โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการที่ อย.ได้มีการปรับยา “ลอราทาดีน” ซึ่งเป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ จากยาอันตรายเป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือควบคุมพิเศษ และจะปรับเฉพาะขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผงเท่านั้น เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ในปัจจุบันพบได้มาก ซึ่งในต่างประเทศบางประเทศพบถึง 30 % ของประชากร ส่วนในประเทศไทยพบ10-30 %ของประชากร ซึ่งโรคนี้การวินิจฉัยค่อนข้างง่าย มักจะเป็นตั้งแต่วัยเด็ก แต่ปัญหาคือการเข้าถึงยายังไม่ดีมากนัก หากไปรอรับยาที่ รพ. อาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งยาลอราทาดีนในประเทศอื่นๆทั่วโลกส่วนใหญ่จะเป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถซื้อในร้านขายยาทั่วไปได้ จึงได้มีการหยิบยกประเด็นของยาตัวนี้ขึ้นมาพิจารณาเรื่องการเข้าถึงยาในประชาชน รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจต้องระวัง พบว่าผลข้างเคียงน้อยมาก อาการรุนแรงแทบไม่มีเลย อาการง่วงนอนน้อยมาก แต่ข้อควรระวังที่พบน้อยมาก คือ ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ข้อควรระวังขนาดยาในคนที่เป็นโรคตับ เรื่องไต และในบางคนจะทำให้เจริญอาหารขึ้น โดยคณะอนุกรรมการปรับเปลี่ยนประเภทยา ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในโรคภูมิแพ้ ทั้งอาจารย์ประจำภาควิชา แพทย์ และเภสัชศาสตร์มาให้ความคิดเห็นและมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และนำเข้าสู่คณะกรรมการยาในการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯก็มีคณะกรรมการกลั่นกรองในหลายๆ ด้าน รวมทั้งมีตัวแทนทางฝั่งประชาชน ตัวแทนผู้ประกอบการในทุกด้านมาพูดคุยกัน

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ยาภูมิแพ้กลุ่มเดิมที่เราใช้กัน คือ คลอเฟนิรามีน ซึ่งยาตัวดังกล่าวจะเหมาะกับคนที่เป็นโรคหวัด แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดมาใช้ในโรคภูมิแพ้ ซึ่งมีผลข้างเคียงให้มีการง่วงนอนมาก ปากแห้ง คอแห้ง อาการภูมแพ้กลับจะรุนแรงมากขึ้น ส่วนยาที่มีการปรับ จะเหมาะกับโรคภูมิแพ้ ซึ่ง อย.ก็ได้มีการกำหนด ให้มีการเขียนข้อความว่ายานี้เหมาะกับคนที่เป็นภูมิแพ้ ไม่เหมาะกับคนที่เป็นน้ำมูกจากไข้หวัด และทางเภสัชกรสามารถขายยาในผู้ป่วยที่มาซื้อยา หรือกลุ่มที่เดิมจะต้องไปในโรงพยาบาล และกลุ่มที่ใช้ยาไม่ตรงกับโรคก็จะสามารถมาซื้อในร้านขายยาได้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเข้าถึงยาของประชาชนจะได้ถูกต้องในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย อย.ก็มีหน่วยงานที่เฝ้าระวังโรคที่เกิดความแทรกซ้อนจากยา ซึ่งก็ได้มีการกำหนดหลังจากที่ยาเปลี่ยนสถานะว่าจะต้องมารายงานคณะกรรมการยาในทุก 6เดือน และ12 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้รวมถึงร้าน ขย.2 ด้วย มีความห่วงกังวลว่าอาจไม่มีเภสัชกรมาแนะนำการใช้ยานพ.สุรโชค กล่าวว่า นอกจากการปรับสถานะแล้ว เรามีเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนในทุกกล่องยาซึ่งจะมีข้อความแนะนำว่ายานี้เป็นยาอะไร มีผลข้างเคียงอะไร และข้อควรระวังอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้เรามีความคาดหวังว่าประชาชนจะมีความเข้าใจในยาตัวนี้มากขึ้น และไปซื้อในร้านที่มีเภสัชอยู่ อย่างไรก็ตามการปรับสถานะเราสามารถสื่อไปทางสื่อต่างๆ หากอยู่ในกลุ่มยาอันตรายเราจะไม่สามารถสื่อได้ แต่ในการออกสื่อ ก่อนจะออกทุกบริษัทต้องมาขออนุญาต อย.ก่อน เพื่อมาดูข้อความเหมาะกับที่กำหนดไว้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึง ทำไมถึงปรับเฉพาะขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผงเท่านั้น นพ.สุรโชค กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่ายานี้กินได้แค่ 10-20 เม็ด สามารถกินต่อไปได้เรื่อยๆ แต่หากกินยาแล้วคนไข้ที่มีการเข้าใจโรคอาการดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ แต่ยานี้จริงๆในรายที่เป็นเรื้อรังจะต้องกินต่อกันเป็นเดือนๆ ดังนั้นหากมีอาการดีขึ้นก็จะกลับมาซื้อต่อ หากไม่ดีขึ้นผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าก็จะได้เปลี่ยนหรือไปหาหมอ ไม่ต้องรอให้ยาหมดก่อนเช่นกรณีที่ซื้อไปทีละมากๆ ดังนั้นเราจึงคิดว่า ขายทีละ 10-20 เม็ดก็น่าจะพอ