ถามหาจริยธรรมร.ร.เอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ถามหาจริยธรรมร.ร.เอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“หมอธี” ถามหาจริยธรรมบริษัทเจ้าของโรงเรียนเอกช เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้กำไรมากขึ้นแต่ไม่ต้องเสียภาษี เข้าข่ายธุรกิจการศึกษา ย้ำต่อให้ถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม ฝากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศหาแนวทางแก้ไข

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กำลังจดทะเบียนและเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 29 พ.ย.2561 ว่าตามกฎหมายในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 นั้น ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายไม่ได้ต้องดูเรื่องจริยธรรมว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายฝ่ายกฎหมายให้ตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะใจตนนั้น มองว่าถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษี และไประดมทุน เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้นและไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งในธุรกิจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา การจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำไปเพื่ออะไรหากไม่ต้องการกำไร

“ขณะนี้ได้มีการหารือกับทางสมาคมโรงเรียนนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขอให้ทางสมาคมดำเนินการพูดคุยและหาแนวทางในเรื่องดังกล่าว เพราะถ้ามองในส่วนรัฐบาล ถ้าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่าต้องการผลกำไร และหากต้องการผลกำไรมากๆ ถ้าทำแบบนี้กระทรวงการคลังต้องเก็บภาษีหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งต้องทบทวนว่ากฎหมายดังกล่าว ตีความถูกต้องหรือไม่ เพราะต่อให้กฎหมายอาจจะถูก แต่อาจจะไม่ถูกจริยธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนั้น จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ใครมีหน้าที่อย่างไร อยากให้มีความชัดเจนก่อนที่จะให้ทางบริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และถ้าดำเนินการดังกล่าวกลายเป็นธุรกิจการศึกษา ต้องเก็บภาษี ซึ่งจะไปปรึกษากระทรวงการคลังในเรื่องนี้ต่อไป” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สามารถเบรกบริษัทดังกล่าวให้ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทันที แต่จะพยายามเบรกให้ได้ตามอำนาจที่ตนเองสามารถทำได้ เนื่องจากถ้าบริษัทนี้ทำสำเร็จ บริษัทอื่นอาจจะทำตามหรือไม่ ต้องมาศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ต้องดูว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งในอดีตมีบริษัทเอกชนที่จะทำแบบนี้หรือไม่ และถ้าทำไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไร เพราะเรื่องนี้ถ้าเป็นบริษัททั่วไปอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเสียภาษี แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนจะไม่เสียภาษีตามนโยบายของรัฐที่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะถือเป็นการจัดการศึกษา ดังนั้น หากบริษัท และโรงเรียนเอกชนได้กำไรมากขึ้น เป็นแบบนี้อาจจะเข้าข่ายธุรกิจการศึกษา

นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สช.ได้ประสานไปยัง กลต.แล้วทราบว่าก่อนหน้านี้บริษัทมีการประกาศขายและมีผู้ติดต่อซื้อแล้ว แต่ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) จะประกาศขึ้นกระดานเพื่อซื้อขายหุ้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2560 มาตรา 22 กำหนดว่า บริษัทมหาชน บริษัทในห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถขอจัดตั้งโรงเรียนได้ แต่มีเงื่อนไข 2 ข้อ คือว่า จำนวนหุ้นและจำนวนผู้ถือหุ้นมากกว่ากึ่งหนึ่ง ดังนั้น การที่บริษัทดังกล่าวจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือว่าไม่ผิดกฎหมายของ สช. จึงไม่ใช่อำนาจของสช.ในการจะเข้าไปบอกให้บริษัทเข้าหรือไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่จะเป็นอำนาจของกลต.ในการชะลอไม่ให้บริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากทางกลต.ต้องการให้สช.จัดทำหนังสือตั้งข้อสังเกต หรือขอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนของบริษัทดังกล่าว ทางสช. ยินดีให้ความร่วมมือในทุกเรื่อง