สตาร์ทอัพประชันไอเดีย‘นวัตกรรมรัฐ’

สตาร์ทอัพประชันไอเดีย‘นวัตกรรมรัฐ’

สถาบันออกแบบอนาคตฯ เปิดเวทีแข่งขันสตาร์ทอัพนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีช่วยยกระดับงานบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข ด้านเอ็นไอเอจัดงบหนุนทดสอบตลาด ผลักดันแก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเปิดทางสตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดรัฐ

สถาบันออกแบบอนาคตฯ เปิดเวทีแข่งขันสตาร์ทอัพนำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีช่วยยกระดับงานบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข ด้านเอ็นไอเอจัดงบหนุนทดสอบตลาด ผลักดันแก้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเปิดทางสตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดรัฐ

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เปิดเผยว่า สถาบันฯ จัดทำโครงการ “GovTech Mission: One Nation, One Mission-ยกระดับประเทศไทย” เป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพนำเสนอแนวคิดและแผนงานที่ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงบริการของประชาชน ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7 แสนบาท กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 8 ม.ค.2562 (www.GovTechmission.com)

“โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี มาช่วยพัฒนางานบริการของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น ไอเดียของผู้เข้าแข่งขันจะได้รับการพัฒนาและปรับใช้ให้เกิดขึ้นจริง การแข่งขันจะคัดเลือกเพียง 30 ทีม แบ่งเป็นด้านการศึกษา 15 ทีม และสาธารณสุข 15 ทีม ทั้งหมดจะได้รับการอบรม เพื่อให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของภาครัฐ และพร้อมก้าวขึ้นมาทำงานในระดับมหภาค และนำเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการตัดสิน เพื่อหาผู้ชนะ 3 ลำดับจากแต่ละด้าน”

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า การที่จะพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคมได้นั้น ประเทศชาติจะต้องถูกยกระดับทั้งทางการศึกษาและสาธารณสุขด้วยนวัตกรรม

ยกตัวอย่าง คานอะคาเดมี่ (Khan Academy) เป็นแพลตฟอร์มการสอนสอนผ่านคลิปวีดีโอ เริ่มต้นจาก “ซาลมาน คาน” ติวหนังสือให้ลูกพี่ลูกน้องผ่านทางอินเตอร์เน็ต จากนั้นมีญาติและเพื่อนๆ ต้องการความช่วยเหลือแบบนี้ด้วย เขาจึงตัดสินใจติวผ่านยูทูป ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนได้รับทุนสนับสนุน และกลายเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรคานอะคาเดมี่ เป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้ตรงจุด เนื่องจากพื้นฐานความรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน การใช้เวลาเรียนในห้องอาจไม่ตอบโจทย์กับนักเรียนทุกคน

วิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้นักเรียนสามารถฝึกฝนเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นแนวโน้มของการศึกษาในรูปแบบใหม่ ที่ครูทำหน้าที่ทดสอบความรู้และเป็นโค้ชให้กับนักเรียนมากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมี GovTech ที่รัฐบาลใช้ให้บริการแก่ประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และในอนาคตเทคโนโลยีต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในภาครัฐมากขึ้นด้วย จึงถือเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมกับภาครัฐ

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า ตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เทคโนโลยีที่รัฐบาลใช้ในการให้บริการสาธารณะ หรือ GovTech ในด้านการศึกษา เป็นเครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นต้นแบบที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา และได้ระดมทุนเพื่อผลิตให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา อีกทั้งสามารถลดภาระงานสอนให้กับครูผู้สอนได้อีกด้วย

ส่วนเทคโนโลยีช่วยพัฒนางานบริการภาครัฐด้านสาธารณสุข เช่น ระบบจัดคิวผู้ป่วยในโรงพยาบาลราชวิถี เป็นระบบเรียกคิวผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทุกระบบ จากปัจจุบันยังแจกบัตรคิวกระดาษเหมือนเดิม แต่ด้านหลังกระดาษจะมีคิวอาร์โค้ดให้คนไข้สแกน จากนั้นระบบก็จะแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์ว่า ขณะนี้มีคนไข้ก่อนคุณกี่คน คุณอยู่ในลำดับที่เท่าไร สามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และสามารถช่วยบริหารจัดการเวลาระหว่างรอของคนไข้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แนวโน้ม GovTech จะเข้ามามีบทบาทในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ทางเอ็นไอเอสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สตาร์ทอัพทดสอบตลาดและการใช้งานระบบกับภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมติดตามและประเมินผลการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำบัญชีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และปรับปรุงเกณฑ์อ้างอิง (Term of Reference) พิเศษ เพื่อให้ภาครัฐสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสตาร์ทอัพตาม TOR ที่คณะกรรมการ กำหนดได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน