ฟาร์มเวสต์เมนท์ โมเดลลดเหลื่อมล้ำ

ฟาร์มเวสต์เมนท์  โมเดลลดเหลื่อมล้ำ

Farmvestment โมเดลธุรกิจรางวัลชนะเลิศในโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ คอนเฟอเรนซ์ (SECON 2018) จากยูเอ็น สะท้อนแนวคิด “ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล” ทายาทรุ่น 4 ของเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทย

Farmvestment โมเดลธุรกิจรางวัลชนะเลิศในโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ คอนเฟอเรนซ์ (SECON 2018) จากยูเอ็น สะท้อนแนวคิด “ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล” ทายาทรุ่น 4 ของเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งที่จะทำให้สังคมดีขึ้นด้วย

“เหตุผลที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอาจเป็นเพราะไอเดียมีความเป็นได้จริงและส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยจะสามารถช่วยเกษตรกร 1,000 คนให้มีรายได้เพิ่ม ทั้งยังสะท้อนถึงกระบวนการทางความคิด (Mindset) ของผู้บริหารรุ่นใหม่ของกลุ่ม KTIS ที่ให้ความสำคัญด้านเกษตรกรรมที่ถูกปลูกฝั่งอยู่ในสายเลือดตั้งแต่สมัยคุณปู่ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาโมเดลธุรกิจนี้”

ธุรกิจปรับสังคมเปลี่ยน

SECON เป็นโครงการประกวดแผนธุรกิจในรูปแบบของโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมตามความถนัดและความสนใจ แต่ไม่ได้ลงรายลึกในรายละเอียด เน้นคอนเซปต์ วิธีการคิดและผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมงในการทำแผนธุรกิจ

โครงการฯ ยังกำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมาเป็นทีม ประกอบด้วย 3 ภาคส่วนคือ ภาคเอกชน ภาครัฐและเอ็นจีโอ ในส่วนของ Farmvestment สมาชิกประกอบด้วย ตัวแทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยูเนสโกและบริษัทที่ปรึกษาในฐานะภาคเอกชน

สำหรับ Farmvestment ทำหน้าที่คล้ายกับตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าออนไลน์ โดยการเสาะหาชุมชนเกษตรกรที่มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะเข้าไปทำการอบรมให้ความรู้และเงินลงทุน ซึ่งมาจากผู้บริโภคในลักษณะคล้ายคราวด์ฟันดิ้งผ่านแอพพลิเคชั่น

เบื้องต้นเลือกผลไม้ 2-3 ชนิดเป็นสินค้านำร่อง หนึ่งในนั้นคือ สตรอว์เบอร์รี่ ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่น จ่ายเงิน 1,000 บาทได้ 4 กิโลกรัม แม้ราคาไม่ต่างจากหน้าแผง แต่สิ่งที่ได้รับคือ ผลไม้ปลอดสารพิษส่งตรงจากสวนถึงมือผู้ซื้อ และได้ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะมีรายได้เพิ่ม 50% เพราะตัดพ่อค้าคนกลาง

“เป้าหมายในการสร้างธุรกิจ มีความชัดเจน คือ ไม่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด แต่การสร้างรายได้นั้นมีขึ้นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของสังคม สิ่งแวดล้อมและการเงินไปพร้อมๆ กัน โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์จึงเป็นคำตอบที่อยู่ตรงจุดในการเข้ามาช่วยเหลือชุมชน สิ่งแวดล้อมและสังคม ขณะเดียวกันมีรายได้ให้กับองค์กรอยู่ได้ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”ศิรพัทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมาได้ทำบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อยโดยชูแนวคิดรักษ์โลกมาเป็นจุดขาย ภายใต้การดูแลของบริษัทย่อย EPPCO ตลาดหลักอยู่ในยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากให้ความสำคัญอย่างมากเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกส่วนคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงจีน ไทย ที่ให้ความสำคัญเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ จึงต้องใช้แบรนด์แตกต่างกันเพื่อความชัดเจน

ตลาดในยุโรปและสหรัฐให้ความใส่ใจปัญหาเหล่านี้ เช่นเดียวกับประเทศไทยในปัจจุบันจะเห็นหลายหน่วยงานเริ่มมีมาตรการแบนพลาสติก จึงเป็นโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้

แตกไลน์ลดความเสี่ยง

ศิรพัทธ์ ในฐานะผู้บริหารคนรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัว กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญการสร้างแบรนด์ KTIS ในอนาคต จะไม่หยุดแค่น้ำตาลแต่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมามากขึ้น ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท สัดส่วนหลัก 70% มาจากน้ำตาล ดังนั้น ความท้าทายของผู้บริหารเจนเนอเรชั่นวายจึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำตาลมากขึ้น

เนื่องจากธุรกิจน้ำตาลกำไรน้อย มีความผันผวนมาก ประกอบกับติดปัญหาและข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย จึงต้องเปลี่ยนมาเน้นการสร้างมูลค่าจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำตาลมากขึ้น ด้วยการต่อยอดจากผลพลอยได้ที่ได้จากการผลิตน้ำตาล เช่น จาน ชามจากชานอ้อย พลังงานสะอาด หรือการทำน้ำตาลที่มีลักษณะ พิเศษ อาทิ น้ำตาลใส่วิตามินหรือแคลเซียม แต่ต้องศึกษาตลาดและความเป็นไปได้เชิงธุรกิจก่อน

“ในอีก 2 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่าจะสปิน-ออฟเพื่อทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยดึงคนที่มีไอเดีย มีความสามารถทำงาน โครงสร้างบริษัทไม่ได้เป็นรูปแบบเดิม แต่สามารถนำไปช่วยเสริมธุรกิจเดิมได้ในรูปแบบการต่อยอดจากบายโปรดักส์ทางการเกษตรเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง อาทิ การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสกินแคร์ เครื่องสำอาง ไบโอพลาสติก”