เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

ช่วงปลายปีของทุกๆ ปี การท่องเที่ยวทางภาคเหนือดูจะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะตามยอดดอยต่างๆ ที่ผู้คนมักจะปักหมุดเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อสัมผัสอากาศเย็นอย่างที่ไม่สามารถหาได้ในเมืองกรุง และเมื่อไม่นานนี้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปสัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมงานแถลงข่าว “รอยัล โปรเจกต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล แอท สยามพารากอน” ซึ่ง มูลนิธิโครงการหลวง และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งยังได้เที่ยวชมแหล่งกำเนิดซูเปอร์ฟู้ดของเมืองไทย เพื่อเข้าถึงและเข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปของ “10 ซูเปอร์ฟู้ด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเขา เพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีของชาวเรา” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของการจัดงาน

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

พรประเสริฐ ธรรมอินทร์ แนะนำอโวคาโดพันธุ์แฮส

ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เราตรงดิ่งไปที่หน่วยวิจัยย่อยขุนห้วยแห้ง เพื่อชมแปลงปลูกอโวคาโดพันธุ์แฮส โดย พรประเสริฐ ธรรมอินทร์ นักวิชาการไม้ผล บอกว่า อโวคาโดของโครงการหลวงที่นี่ปลูกอยู่บนความสูง 1,350 เมตร ซึ่งพันธุ์แฮสจากประเทศอเมริกา แถบโซนร้อน จะให้ผลผลิตดีและได้รับความนิยมสูงที่สุด เนื่องจากอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยลดคอเรสเตอรอลในเลือด มีวิตามินอีบำรุงผิวพรรณ และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็งชนิดต่างๆ และโรคหัวใจ แต่ละต้นมีอายุนานถึง 30 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกปี แต่ผลผลิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อต้น ห่างกันไม่ไกลนักเป็นแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 แต่ช่วงนี้ยังไม่ถึงเวลาออกผล เราจึงได้แต่แอบเสียดายที่ไม่ได้ยลโฉมสตรอเบอร์รี่ผลโตสีแดงสด รสหวานฉ่ำ

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

บ่อเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์

นอกจากผลไม้แล้วอินทนนท์ยังเป็นสถานที่หลักในการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์และปลาสเตอร์เจี้ยน ปลาน้ำจืดเลี้ยงบนพื้นที่สูง ที่มีน้ำไหล และใสสะอาด ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตคือ 18-25 องศาเซลเซียส ทางโครงการหลวงจึงได้วางท่อน้ำมาจากน้ำตกสิริภูมิบนยอดดอยอินทนนท์มายังบ่อเลี้ยง น้ำที่บ่อเลี้ยงจึงเย็นตลอดทั้งปี สานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง เล่าให้ฟังว่า โครงการหลวงเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราต์สายพันธุ์จากประเทศอเมริกาและประเทศเยอรมนีได้เมื่อปี 2542 ซึ่งจะวางไข่ในช่วงเดือนฟฤศจิกายนของทุกปี จากนั้นอีก 7 เดือนสามารถจำหน่ายได้ ปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 800 บาทขึ้นไป โดยจะส่งขายตามโรงแรมและร้านอาหารทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ส่วนปลาสเตอร์เจี้ยนเป็นปลากระดูกอ่อนสามารถกินได้ทั้งตัว แต่จะเน้นขายไข่เป็นหลัก ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 55,000 บาท ส่วนเนื้อ 625 บาท 

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

โรงเพาะเห็ดปุยฝ้าย

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

เห็ดปุยฝ้าย

ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง รับผิดชอบดูแล 4 หมู่บ้าน 2 ชนเผ่า คือ ม้ง และกะเหรี่ยง ซึ่งวิถีชีวิตต่างกัน ทางโครงการจึงต้องจัดปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ปัจจุบันปลูกผัก-ผลไม้รวมกว่า 20 ชนิด อาทิ เบบี้แครอท มะเขือเทศ ผักกาดหวาน กะหล่ำปลีหัวใจ เสาวรส เลมอน พีช พลับ กีวี เปปปิโน เป็นต้น ที่นี่เราได้เรียนรู้การเพาะเห็ดปุยฝ้าย หรือเห็ดยามาบูชิตาเกะ จาก วัชระ พันธ์ทอง หัวหน้าศูนย์ฯ ที่บอกว่า เห็ดชนิดนี้ต้องเพาะที่อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 20 องศา หลังจากเริ่มเพาะพันธุ์ราว 3-4 เดือนสามารถเก็บผลผลิตได้ต่อเนื่องทุกวันตลอดทั้งปี เห็ดปุยฝ้ายสามารถนำมาทำปรุงอาหารได้หลายชนิดรสชาติคล้ายไก่ ยังสามารถนำมาสกัดเป็นยา และเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางได้ด้วย   

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

เคปกูสเบอร์รี่

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

ชาวปกาเกอะญอช่วยกันเกี่ยวข้าวบือพะโด๊ะ

ขยับจากจุดนี้ออกไปเล็กน้อยเป็นพื้นที่ของแปลงปลูกเคปกูสเบอร์รี่ สายพันธุ์เหลืองทองจากประเทศอินเดีย ซึ่งโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูกเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว เคปกูสเบอร์รี่เป็นผลไม้สุขภาพมีวิตามินซีสูงเป็น 2 เท่าของเลมอน รสหวานกรอบอมเปรี้ยว จะกินผลสด หรือจะนำไปปั่นกับสตรอเบอร์รี่ อโวคาโด และน้ำผึ้งก็ได้ มีสรรพคุณในการแก้ความดัน คลายเครียด แก้โรคเบาหวาน ป้องกันไข้หวัด ภูมิแพ้ มีเปปตินและวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา รวมถึงสารแคโรทีนอยด์ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจ เกษตรกรจะปลูกกันช่วงเดือนกรกฎาคม และให้ผลผลิตในเดือนธันวาคม-เมษายนเท่านั้น ไปต่อกันที่แปลงปลูกข้าวบือพะโด๊ะ เป็นข้าวสายพันธุ์ดีที่สุดของชาวปกาเกอะญอ ลักษณะพิเศษคือเม็ดใหญ่ สั้น กลม คล้ายข้าวญี่ปุ่น เป็นข้าวที่มีธาตุอาหารสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกบนที่สูง สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้ง

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

เห็ดพอตโตเบลโล

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

ภัทราวุธ ศุภศานต์ โชว์เห็ดพอตโตเบลโล

เดินทางต่อไปที่บ้านผาหมอนเพื่อพูดคุยกับนักวิชาการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเห็ดพอตโตเบลโลสายพันธุ์จากออสเตรเลีย ภัทราวุธ ศุภศานต์ เล่าว่า เห็ดพอตโตเบลโลเป็นเห็ดเนื้อแน่นที่ชอบอากาศหนาวที่อุณหภูมิ 19 องศา สามารถนำไปผัด ยำ ย่างซอส หรือจิ้มวาซาบิก็อร่อย แต่ขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยาก สามารถทำได้ในฤดูหนาว และต้องปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้เท่านั้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านตลาด ทำให้ไม่รู้จักแพร่หลายนัก ทั้งๆ ที่มีสรรพคุณในการแก้โรคความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มน้ำนม และช่วยให้เจริญอาหาร ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกกันเป็นรายได้เสริม โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ เห็ดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป เรียกว่า พอตโตเบลโล ราคากิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนเห็ดที่มีขนาดเล็กกว่า 2 นิ้วราคาจะถูกกว่ากันครึ่งหนึ่ง เรียกว่า คิมปินี่

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

แปลงเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ขนิลเหนือ

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

แปลงผักอินทรีย์

ไปเรียนรู้วิถีเกษตรกันต่อที่แปลงเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ขนิลเหนือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ.หางดง สุพัตรา บุตรพวง ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เล่าย้อนว่า ที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2546 กระทั่งได้มาตรฐานราวปี 2553-2554 พืชผักทุกชนิดไม่ใช้สารเคมี เน้นใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเป็นหลัก รายได้จึงค่อนข้างน้อยในปีแรกคือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ พอปีที่ 2-3 เพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 4-6 เพิ่มขึ้นเป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ราคาจึงแพงกว่าเกษตรทั่วไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตที่นี่มีทั้งหมด 12 ชนิด อาทิ ยอดฟักแม้ว ลูกฟักแม้ว ผักกาดกวางตุ้ง ถั่วแขก แตงร้าน ถั่วฝักยาว เบบี้ฮ่องเต้ เป็นต้น  

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

องุ่นไร้เมล็ด เบบี้ ซิซเลส

เรียนรู้วิถีเกษตรผ่านการท่องเที่ยวโครงการหลวง

แปลงปลูกควินัว

จากที่นี่ขับรถไปราว 1 ชั่วโมงครึ่ง สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง เป็นจุดหมายปลายทางที่เราจะได้ชมแปลงองุ่นไร้เมล็ด เบบี้ ซิซเลส สามารถปลูกได้ทั้งที่ต่ำและที่สูง แต่หากปลูกบนที่สูงผลจะกรอบกว่า และยังมีแปลงปลูกคินัว สายพันธุ์จากเปรู เป็นพืชไร่ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 3 เดือนหลังการปลูก เป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้แร่ธาตุและสารอาหารที่สำคัญอย่างกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบ 10 ชนิด เหมาะเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนสำหรับบุคคลที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ หรือธัญพืชบางชนิด แพ้อาหารทะเล แพ้น้ำตาลแล็กโตส และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมล็ดของควินัวรสจะออกฝาด จึงควรล้างหลายๆ รอบก่อนนำไปปรุงอาหาร

หลังจากพาไปชมถึงแหล่งผลิต หลายคนยังแอบกระซิบว่าผลผลิตจากโครงการหลวงหาซื้อค่อนข้างยาก แต่ครั้งนี้ผลผลิตทั้งหมดจะถูกยกมาไว้ในงาน “รอยัล โปรเจกต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล แอท สยามพารากอน”ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม บริเวณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน