หลายชาติส่อตาม ‘ทรัมป์’ ชูมาตรการภาษีหนุนเติบโต

หลายชาติส่อตาม ‘ทรัมป์’ ชูมาตรการภาษีหนุนเติบโต

ในขณะที่การเติบโตนอกสหรัฐเริ่มสะดุด นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจะเดินตามเกมเศรษฐกิจของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ โดยใช้มาตรการภาษีและทุ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตน

“ชโรเดอร์ส” บริษัทบริหารสินทรัพย์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานเรื่อง “ประเทศอื่น ๆ ควรเดินตามเกมเศรษฐกิจของทรัมป์หรือไม่” เมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ว่า การเติบโตทั่วโลกในปี 2560 มีคุณลักษณะเฉพาะจากการขยายตัวในเวลาเดียวกันของบรรดาเศรษฐกิจสำคัญของโลก ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของการค้าโลกที่คึกคักซึ่งช่วยให้ทุกเศรษฐกิจได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การค้าโลกซบเซาลงในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกกลับเกื้อหนุนกันน้อยลง แม้จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง

คีธ เวด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ของชโรเดอร์ส กล่าวว่า หนึ่งในความแตกต่างสำคัญระหว่างสหรัฐกับเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่กล่าวถึง คือความสามารถของสหรัฐในการรักษาการเติบโตภายในประเทศให้แข็งแกร่งในช่วงที่ความต้องการจากนอกประเทศชะลอตัวลง

“จีน ยุโรป และญี่ปุ่นต่างได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกที่เกิดขึ้นในปี 2560 แต่หลังจากนั้นมา สถานการณ์กลับพลิกผัน ประเทศเหล่านี้สูญเสียตัวกระตุ้นการเติบโตสำคัญ และไม่สามารถชดเชยจุดนี้ด้วยการเติบโตภายในประเทศได้”

ในสหรัฐ นโยบายภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาลซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโต ช่วยสนับสนุนความต้องการภายในประเทศที่คึกคัก ด้วยการยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐ ชโรเดอร์สมองว่า อาจเป็นเพราะนโยบายการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์มาถูกจังหวะเวลา ซึ่งทำให้สหรัฐเปลี่ยนตัวกระตุ้นการเติบโตได้ทันในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย

แนวโน้มสำหรับการค้าโลกเริ่มมีความท้าทาย เนื่องจากตัวชี้วัดสถานการณ์ในอนาคต เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ทั่วโลกของยอดคำสั่งส่งออก ต่างบ่งชี้ว่าจะมีการชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ยอดคำสั่งส่งออกใหม่ถือเป็นตัวชี้วัดของกิจกรรมการค้าในอนาคต จึงดูเหมือนว่าไม่มีแนวโน้มว่าการฟื้นตัวของการค้าโลกจะช่วยให้การเติบโตทั่วโลกกลับมาเกื้อหนุนกันอีกครั้ง

ชโรเดอร์ส ระบุว่า สิ่งที่อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ที่เห็นผลมากกว่าในขณะนี้คือ หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เดินตามรอยทรัมป์เกี่ยวกับการออกนโยบายการคลัง (ภาษีและใช้จ่าย) ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มเห็นบ้างแล้วในปัจจุบัน

เมื่อไม่นานนี้ จีนได้ประกาศปรับลดภาษีและอยู่ระหว่างหารือกันว่าจะลดภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ภาษียอดขายรถ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีนิติบุคคล ส่วนในยุโรป เยอรมนีเตรียมจะขยายนโยบายการคลังให้ครอบคลุมขึ้นในปีหน้า ขณะที่อิตาลีได้ประกาศนโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพิ่มการเติบโต และสหราชอาณาจักรก็เริ่มผ่อนคลายงบประมาณของตนเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นประกาศงบประมาณเสริมและมีการหารือเกี่ยวกับวิธีชดเชยผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคในปี 2562 เช่น การเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับอนุบาลศึกษาและมาตรการอื่น ๆ

ชโรเดอร์ส คาดว่า ในอนาคตอาจได้เห็นรัฐบาลจำนวนมากขึ้นเข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนการเติบโตด้วยมาตรการภาษีและการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงที่บรรดาธนาคารกลางหันมาให้ความสำคัญกับการปรับนโยบายทางการเงินสู่ภาวะปกติ

“สำหรับบรรดานักลงทุน สิ่งนี้จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการสนับสนุนแบบเดิมโดยธนาคารกลาง มาเป็นการสนับสนุนที่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าและอาศัยความซับซ้อนทางการเมืองมากขึ้น”

นอกจากนั้น ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่า สงครามการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่ง กำลังส่งผลกระทบต่อบรรดาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้แนวโน้มสำหรับธุรกิจในภูมิภาคไม่ชัดเจน

การเติบโตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่างชะลอตัวลงเมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา หลังสหรัฐและจีนเริ่มเพิ่มการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกัน

ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า อัตราการเติบโตของ 5 เศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.5% ลดลงจาก 5.5% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ย.) ชี้ว่า สิงคโปร์เติบโต 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ลดลงจาก 4.1% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. หลัก ๆ เป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวในภาคการผลิต คาดว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเติบโต 1.5-3.5% ในปีหน้า ชะลอตัวกว่าตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.0-3.5%

“มีความเสี่ยงว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งอาจยิ่งฉุดความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลกอย่างหนัก” กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุ

ขณะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยอัตราการเติบโตรายปีลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ จาก 4.6% ในไตรมาส 2

การส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ลดลง 0.1% ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้น 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า หลัก ๆ เป็นผลมาจากการลดลงของการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกรายใหญ่ของประเทศ

“สงครามการค้าที่ยืดเยื้อเริ่มสร้างความเสียหายต่อการส่งออกของเราในไตรมาส 3 ของปีนี้” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)บริษัทเอสซีจี ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของไทยเผยกับเว็บไซต์นิคเกอิ เอเชียน รีวิว และว่า “ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าของเรา และทำให้การส่งออกของเราลดลง”

สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทแคปิตัล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ความต้องการจากต่างประเทศสำหรับสินค้าส่งออกของไทยส่อเค้าที่จะซบเซาลงอีก เนื่องจากการเติบโตในสหรัฐและจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในหลายไตรมาสข้างหน้า

การส่งออกของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงในไตรมาส 3 ทำให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงมาอยู่ที่ 5.17% จาก 5.27% ขณะที่การส่งออกจากมาเลเซียลดลง 0.8% ทำให้การเติบโตของประเทศหดตัว 0.10% มาอยู่ที่ 4.4%

นอกจากนั้น หลายเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยในฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อซึ่งแตะที่ 6.7% ในเดือนต.ค. และภาคครัวเรือนต่างเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีบางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในไตรมาสล่าสุด อย่างเวียดนามรายงานว่า เติบโต 6.88% เพิ่มขึ้นจาก 6.73% ในไตรมาสก่อนหน้า แรงหนุนจากยอดการผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนที่ยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายย้ายการผลิตจากจีนเข้ามาในเวียดนาม