ศิลปะในโลกเหนือจริงของหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ

ศิลปะในโลกเหนือจริงของหม่อมเจ้าหญิงมารศีฯ

การรู้จักตัวตนของศิลปินทำให้เราดูงานศิลปะได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

ในนิทรรศการ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi

ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี ไม่เพียงแต่ทำเข้าใจวิธีคิดและการทำงานของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางของศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์–แฟนตาสติก (Surrealism – Fantastic Art)ในยุคเดียวกับ ซัลวาดอร์ ดาลี แล้ว เรายังได้เห็นผลงานออกแบบแฟชั่นในโปรเจ็คท์ Marsi X FlynowIII ที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจในงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของท่านหญิงอีกด้วย

ศุภชัย อารีรุ่งเรือง อาจารย์ในสาขาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวถึงที่มาของความงามและความน่าเกลียดว่าเกิดจากการศึกษาผลงานชิ้นแรกไปจนถึงชิ้นสุดท้ายทำให้พบว่า

“งานของท่านเต็มไปด้วยสุนทรียะ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคำนี้หมายถึงความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมตีความว่าความน่าเกลียด ความตายในงานศิลปะของท่านนั้นเป็นสุนทรียะ”

นอกเหนือจากผลงานจิตรกรรมแล้ว ศุภชัยให้ความสำคัญกับข้อมูลรอบด้านที่ทางมูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรจัดเก็บและขึ้นทะเบียนอย่างเป็นระบบทุกชิ้น

“หนังสือที่ท่านอ่าน ตุ๊กตาที่ท่านสะสมจะนำมาแต่งหน้าแต่งตัวใส่เครื่องประดับ เสื้อผ้าหน้าผมของท่านเองก็สะท้อนความเป็นแฟชั่นนิสต้า รวมถึงการที่ท่านจบปริญญาเอก 2 ใบทางด้านวรรณคดีและด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกตัวตนของศิลปินทั้งหมด”

ภัณฑารักษ์ออกแบบนิทรรศการให้เสมือนกับผู้ชมกำลังเดินเข้าไปในโลกของศิลปิน โดยสมมติให้ทางเข้าเป็นมดลูก ทันทีที่ผู้ชมเดินผ่านเข้าไปเท่ากับได้เกิดใหม่แล้วท่องไปในโลกของท่านหญิงที่นำเสนอผ่านห้องทั้ง 4

ห้องแรกจัดแสดงประวัติและพระปณิธานของท่านหญิงกับงานศิลปะที่เขียนด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ศิลปะ สะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา

“อยากให้คนที่เข้ามาปะทะกับภาพถ่ายขนาดใหญ่ของท่านหญิง ในภาพจะเห็นนกที่เลี้ยงอยู่ในบ้านร้อยกว่าตัว มีกระดาษบังเฟรมผ้าใบบางส่วนไว้สำหรับกันขี้นก ในภาพเดียวกันก็มีสุนัข และที่สำคัญคือ แสงที่ส่องเข้ามาทางทิศเหนือเป็นแสงที่ดีในการทำงานศิลปะ” ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงจุดเด่นของห้องโถงแรกที่จัดแสดงภาพถ่ายของท่านหญิงขณะที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในเมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส

ห้องที่ 2 นำเสนอเรื่องความงามผ่านห้องสีแดงมารูน ซึ่งมีกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนภาพความบิดเบือนในยามที่ผู้ชมไปยืนอยู่ตรงหน้า “คำว่า Beauty ในความหมายของท่านหญิง คือสัตว์นานาชนิด ส่วน Ugliness นั้นคือ มนุษย์” ภัณฑารักษ์อธิบาย

ภายในห้องนี้จัดแสดงผลงานจิตรกรรมรูปดอกไม้ นก และสัตว์ต่างๆ เช่น ภาพ La mort aux dents และ L’Univers Pétunia

ในขณะที่ห้องที่ 3 นำเสนอความน่าเกลียดในโทนสีม่วงก่ำ จัดแสดงผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ภาพสัญลักษณ์ของ ความน่าเกลียด ความตาย ความอัปลักษณ์ ของรูปกายที่ไม่จีรัง โครงกระดูก ภาพครึ่งคนครึ่งสัตว์ อาทิเช่น ภาพ Recifs Sirènes ภาพ Les Serpents Bibliques

รวมทั้งวรรณกรรมต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ที่น่าสนใจคือการนำเสนอเส้นทางศิลปะของท่านหญิงที่แสดงเนื้อหาพัฒนาการ ในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะของท่าน ด้วยการเทียบลำดับเวลาของเหตุการณ์ ศิลปิน ปรากฏการณ์ทั้งในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก

“จากการศึกษางานตามไทม์ไลน์ของท่าน ทำให้พบว่า ช่วง 10 ปีแรกเป็นช่วงของการเรียนรู้และการฝึกฝน ชิ้นงานจึงค่อนข้างมีขนาดเล็ก ในงานมีกลิ่นอายของภาพสไตล์ตะวันออกและมีภาพเขียนจีน ซึ่งท่านได้ทรงศึกษาอย่างเชี่ยวชาญเป็นต้นแบบ ต่อมาในช่วง 10 ปีที่สอง เริ่มมีภาพคนและมีสีสันเติมเข้ามามากขึ้น ชิ้นงานมีขนาดใหญ่ขึ้น และบางครั้งมีขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร ในช่วงที่ท่านอายุ 40-50 ปี ภาพจะสะท้อนเรื่องสัจธรรมของชีวิตออกมาอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องความตาย ความเสื่อมสลายของร่างกาย และความไม่จีรังยั่งยืน” ภัณฑารักษ์กล่าว

ห้องสุดท้ายใช้โทนสีเขียว สื่อความหมายของสัจจะ ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ สัจจะในเส้นทางของตนเองที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการเป็นศิลปะ และสัจธรรมชองชีวิตที่สะท้อนให้เห็นในผลงานศิลปะ นำเสนอผ่านผลงาน La Belle à la Cour de la Bête ผลงาน Le Mur หรือ The Wall

ภายในห้องจำลองสตูดิโอทรงงานที่พระตำหนัก Vellara ในเมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส มีขาตั้งภาพ เปียโน กรงนก อุปกรณ์สำหรับวาดภาพ รวมไปถึงภาพสเก็ตซ์บนกระดาษไขที่ไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ไหนมาก่อน

ชมผลงานศิลปะแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังจัดแสดงผลงานออกแบบแฟชั่นใน โปรเจ็คท์ Marsi X FlynowIII ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรม จำนวน 14 ชุด รวมถึงคอลเลคชั่นเสื้อผ้า Basic Line และแอคเซสซอรี่ ที่นำผลงานจิตรกรรม จำนวน 5 ภาพ ได้แก่ La mort aux dents, La Belle et la Bête, Le Mariage Mystique du Prince Noui Noui à Vellara, Le Bal รวมถึงข้อความภาษาฝรั่งเศสที่แปลเป็นไทยว่า “ศิลปะ สะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉัน ถ่ายทอดออกมา” มาจัดพิมพ์ลงบน เสื้อเชิ้ต เสื้อทีเชิ้ต เดรส ผ้าพันคอ และ กระเป๋า จำหน่ายภายในนิทรรศการร่วมกับสินค้าที่ระลึกได้แก่ โปสการ์ด สมุดโน้ต แฟ้ม และเครื่องเขียน อีกด้วย

นิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ 5 – 8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม 2561 เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.30 น. นิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี (มีค่าบำรุงพิพิธภัณฑ์ 30 บาท)