เผย 'เศรษฐกิจ-ครอบครัว'ทำคนไทยเครียดสุด

เผย 'เศรษฐกิจ-ครอบครัว'ทำคนไทยเครียดสุด

"เอยูโพล" เผยดัชนีความเครียดของคนไทย ไตรมาส 3 พบ 67.45% เครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.61 สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 3 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,003 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า

ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 58.61 เป็นหญิง และร้อยละ 41.39 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 7.39 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.13 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.27 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี) ร้อยละ 30.05 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 29.16 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 56.86 สมรสแล้ว ร้อยละ 34.60 เป็นโสด ในขณะที่ร้อยละ 5.14 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.40 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.27 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 39.64 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 5.74 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุ

ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 26.26 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 38.09 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 21.12 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 13.48 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท และร้อยละ 1.05 ไม่ระบุรายได้ สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 18.42 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 16.43 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.33 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 13.58 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 10.33 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 9.14 ประกอบธุรกิจส่วนตัว และร้อยละ 15.77 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น

คนไทยความเครียดลดลง ... แต่ส่วนใหญ่ยังเครียดเรื่องเศรษฐกิจเหมือนเดิม ... ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 67.45) รองลงมา คือ เรื่องครอบครัว (ร้อยละ 51.07) และเรื่องการงาน (ร้อยละ 44.64) เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับความเครียดของคนไทยในการสำรวจครั้งนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยก็พบว่า คนไทยในช่วงวัยทำงานจนถึงวัยชรา (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ต่างก็มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน แม้ว่ารายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้จะเติบโตตามเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายในประเทศและรายได้ครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว แต่ความเครียดของคนไทยส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ก็ยังมีสูงอยู่ จึงยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรายงานภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ประกาศออกมาดีกับความเครียดของคนในสังคมที่กังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น (ร้อยละ 57.70) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ร้อยละ 47.66) ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย (ร้อยละ 46.47) ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เห็นว่า ความเครียดในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่เริ่มที่จะปรับตัวและสามารถรับมือกับความเครียดในเรื่องนี้ได้ดีขึ้นความเครียดเรื่องปัญหาครอบครัวและหน้าที่การงานตามมาติดๆ ...

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินแล้ว รองลงมา คนไทยส่วนใหญ่ยังเครียดเรื่องในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว (ร้อยละ 37.44) ภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว (ร้อยละ 28.80) และไม่มีเวลาให้ครอบครัว (ร้อยละ 27.31) เป็นต้น ส่วนความเครียดในเรื่องการงานที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น (ร้อยละ 39.42) สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ยังไม่เพียงพอ (ร้อยละ 35.49) และความกังวลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ (ร้อยละ 26.47) เป็นต้น ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียดโดยภาพรวมมากยิ่งขึ้นประหยัดและพอเพียง เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ...

จากผลการสำรวจพบว่า แนวทางแก้ปัญหาเพื่อลดความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/การเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเอง โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 55.83) หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น (ร้อยละ 14.46) ปล่อยวางทำใจยอมรับความเป็นจริงและมีสติ (ร้อยละ 9.74) เป็นต้น

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจจะเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองและการแบ่งพรรคแบ่งพวก และปัญหาการจราจร เป็นต้น ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงของการที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มที่จะหาเสียงและแสดงจุดยืนทางการเมือง รวมทั้งประกาศนโยบายที่จะใช้เป็นแนวทางในการทำงานของพรรค หากสามารถนำปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบายของพรรค เพื่อช่วยให้คนไทยมีความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง ไม่แน่ว่าจะได้รับความนิยมจากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นก็เป็นได้