ชี้ไม่เหมาะ ใช้ม.44 ยกเว้นสภาฯไม่ยื่นทรัพย์สิน

ชี้ไม่เหมาะ ใช้ม.44 ยกเว้นสภาฯไม่ยื่นทรัพย์สิน

รมช.ศธ.ยันสภามหาวิทยาลัย เห็นพ้องป.ป.ช.ยื่นทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส ชี้สภามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องเงิน กังวลแจ้งทรัพย์สินผิดถูกคดีอาญา ระบุใช้ม.44 ยกเว้นอาจไม่เหมาะ

วันนี้ (22 พ.ย.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ในส่วนของตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยังคงเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือกับหลายฝ่ายทั้ง ป.ป.ช.และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ และจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นของกรรมการสภาฯ ที่จะลาออกจากตำแหน่ง พบว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ทุกคนเห็นด้วยกับความโปร่งใส เพียงแต่กรรมการสภาฯ ที่จะลาออก เพราะรู้สึกยุ่งยากและมีความเสี่ยง ทั้งนี้หากยื่นทรัพย์สินไม่ครบถ้วนหรือตกหล่น ก็ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา อีกทั้งหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยไม่ได้มีอำนาจในเรื่องการจัดการเงินของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ทำได้เพียงเห็นชอบตามที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเสนอเท่านั้น ส่วนผู้ที่อนุมัติงบประมาณ คือ สำนักงบประมาณ

“มีกรรมการสภาฯ หลายคนบอกกับผมว่า ถูกภรรยาสั่งให้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่ต้องการยื่นทรัพย์สิน เนื่องจากภรรยาบางท่านก็มีการสะสมเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ไว้ จึงไม่ต้องการที่จะเปิดเผย ซึ่งผมก็เข้าใจ ป.ป.ช. ว่าเมื่อมีการประกาศออกมาเป็นกฎหมายแล้ว การที่จะดำเนินการอะไรก็ทำได้ยาก ซึ่งผมเองคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ คือ กฎหมายดีอยู่แล้ว ผมเห็นด้วย เพียงแต่ผมมองว่าไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ หากต้องมีบังคับใช้กฎหมายขณะที่เขากำลังดำรงตำแหน่งอยู่ ผมจึงอยากเสนอให้ในส่วนของคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันไม่ควรที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้ ให้ดำรงตำแหน่งในครบวาระก่อน แต่ให้บังคับใช้กับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ เพื่อที่จะให้มีการเตรียมตัวหากใครไม่พอใจที่จะยื่นก็ไม่ต้องเข้ามาในตำแหน่งนี้ ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นทางออกที่นุ่มนวลที่สุดแต่อยู่ที่ป.ป.ช.จะรับพิจารณาหรือไม่ ”รมช.ศธ.กล่าว

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้น หากมีผลกระทบในวงกว้าง ส่วนตัวมองว่าการใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นไม่ให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน อาจจะไม่ค่อยเหมาะสม แต่หากจะเป็นการออกมาตรา 44 เพื่อไม่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ คิดว่าสมเหตุสมผล เพราะไม่ใช่เป็นการเลิกไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการที่จะเริ่มใช้กับคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่เท่านั้น