'เอบีม' ดันใช้บิ๊กดาต้า พิชิตความสำเร็จยุคดิจิทัล

'เอบีม' ดันใช้บิ๊กดาต้า  พิชิตความสำเร็จยุคดิจิทัล

ธุรกิจไทยกำลังถูกท้าทายให้ใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า

ยุคที่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยดิจิทัลกำลังถูกผลักดันในประเทศไทย “บิ๊กดาต้า” กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกพูดถึง และฝากความหวังไว้ว่า จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจในยุค 4.0 ลดความผิดพลาด พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มอันเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) และ ไอดีซี รีเสิร์ช ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าในไทยไว้ว่า แนวโน้มในปี 2561 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 13.7 % มูลค่า 13,642 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 15,671 ล้านบาท หรือเติบโต 16.4 % ในปี 2562

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจ ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ธุรกิจไทยกำลังถูกท้าทายให้ก้าวข้ามการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า ขณะเดียวกันต้องเริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลจากภายในและภายนอกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์อย่างมีระบบ ทำให้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์พิชิตความสำเร็จในยุคดิจิทัลให้ได้

"ผมได้เห็นว่าในไทยมีการพูดถึงการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ตลาดถูกให้ความรู้และเรียนรู้ เพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ โดยหนึ่งในนั่นคือบิ๊กดาต้า”

เพิ่มจุดต่าง-เสริมมูลค่าธุรกิจ

สำหรับเอบีม ได้วางเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถสร้างคุณค่าใหม่ๆ และก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่นานมานี้จับมือกับกลุ่มตรีเพชรจัดงานแฮกกาธอน “Hackathon by Tri Petch Group X ABeam” ในงานซีบิท อาเซียน ไทยแลนด์ 2018 ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่นำเสนอแนวคิดและเฟ้นหาไอเดียการนำบิ๊กดาต้ามาต่อยอดธุรกิจ

ทั้งนี้ โจทย์หลักคือ การปรับใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลของกลุ่มตรีเพชร ซึ่งเกี่ยวกับ “Vehicle Insight Data” ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของรถต่างๆ มากว่า 7-8 ปี อาทิ ข้อมูลการขับขี่รถ ความเร็ว จำนวนครั้งในการเบรก อัตราการเร่งความเร็ว ฯลฯ 

การแข่งขันดังกล่าว ทีมชนะเลิศได้แก่ “ADME” กลุ่มนิสิตสาขาวิชาการออกแบบและการผลิตยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจพบว่าเด็กไทยมีความสามารถอย่างมาก พวกเขานำเสนอไอเดียในการนำข้อมูลบิ๊กดาต้าของกลุ่มตรีเพชรไปใช้ประโยชน์กับตลาดรถมือสอง ด้วยแนวคิด “รถยนต์ไม่ควรมีราคาขายต่อที่เท่ากัน” เนื่องจากพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับขี่แต่ละคันย่อมส่งผลกับสภาพรถยนต์ที่ต่างกันไป

พร้อมกันนี้ มีการนำข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่มาวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อตีมูลค่ารถยนต์ สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสังคม สร้างให้เกิดสังคมขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากผู้ใช้จะปรับปรุงพฤติกรรมการขับรถให้ดียิ่งขึ้นหากต้องการได้ราคาขายต่อรถที่ดีขึ้น

เตรียมพร้อมรับตลาดเปลี่ยน

เขากล่าวว่า ทีมนิสิตจุฬาฯ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ เสนอไอเดียการนำบิ๊กดาต้าของตรีเพชรมาสังเคราะห์และใช้ประโยชน์จนเกิดแนวคิดใหม่ สามารถต่อยอดเพื่อประเมินราคารถที่ต้องการขายต่อตามสภาพแท้จริงของรถจนได้ราคาที่สมเหตุสมผลให้กับเต้นท์รถมือสองและคนขาย โดยการตีราคารถมือสองต้องดูจากพฤติกรรมจากการขับขี่ของรถเป็นหลัก ว่ามีประวัติการเฉี่ยวชนหรือไม่ รวมไปถึงพฤติกรรมการขับขี่อื่นที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของรถ ซึ่งไอเดียของนักศึกษาที่ได้รางวัลชนะเลิศนับเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับธุรกิจรถมือสองเลยทีเดียว

"นวัตกรรมจากงานแฮกกาธอนนับเป็นบันไดที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม และได้เห็นว่าธุรกิจมีความจำเป็นต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น บริหารจัดการบิ๊กดาต้าอย่างชาญฉลาด ปัจจุบันวิวัฒนาการของเทคโนโลยีไอโอทีได้สร้างข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้นองค์กรธุรกิจจำต้องพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล(Improvement of Data Analytics) ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การทดสอบวิธีการวิเคราะห์(Test Analytics Approach) รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านเทคนิค(Technical Support) ควบคู่ไปกับใช้ระบบในการวิเคราะห์ข้อมูล(Data Analytics System Deployment)" 

ทั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องกลยุทธ์ บุคลากร และการจัดองค์กร(Human & Organization) กระบวนการทางธุรกิจ(Business Process) และระบบต่างๆ(System) เพื่อให้ทุกหน่วยงานในองค์กรสามารถบริหารการวิเคราะห์ข้อมูลได้ ใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทางธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา