กรมอนามัย แนะหลัก 4 เลือก 2 ลด ลอยกระทงอย่างสุขใจ

กรมอนามัย แนะหลัก 4 เลือก 2 ลด ลอยกระทงอย่างสุขใจ

กรมอนามัย แนะหลัก 4 เลือก 2 ลด ลอยกระทงอย่างสุขใจ ไร้มลพิษ ลดโลกร้อน

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อผ่านพ้นข้ามคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาใน  ทุกๆ ปี คือ ซากกระทงจำนวนมากที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำสาธารณะหลายแห่งจากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2560 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 811,945 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ร้อยละ 93.6 และกระทงโฟม ร้อยละ 6.4 โดยสัดส่วนของกระทงจากวัสดุธรรมชาติต่อกระทงโฟมเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 เป็นผลมาจากประชาชนเห็นความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงนิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติมากขึ้นและใช้วัสดุประเภทโฟมน้อยลง อย่างไรก็ตามกระทงที่เก็บได้เหล่านี้สุดท้ายจะกลายเป็นขยะที่ต้อง ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำและทัศนียภาพที่สวยงาม แต่การจัดการซากกระทงเหล่านี้รวมทั้งการผลิตโฟม ต้องใช้พลังงานและเชื้อเพลิงจำนวนมาก ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ รวมทั้งภัยพิบัติและสุดท้ายส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงควรใส่ใจในการเลือกกระทงก่อนนำไปลอยยังแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งการย่อยสลายของกระทงแต่ละประเภทนั้น พบว่ากระทงขนมปังและกระทงไอศกรีม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน กระทงจากต้นกล้วย ใบตอง ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน ส่วนกระทงโฟมจะย่อยสลายนานมาก ประมาณ 50 ปี

“ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด ในคืนวันลอยกระทง โดย 4 เลือก ประกอบด้วย 1) เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย เช่น กระทงขนมปังหรือกระทงกรวยไอศกรีม ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลา กระทงหยวกกล้วยเหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย 2) เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ เก็บขนได้ทัน ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 3) เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและจะเป็นขยะในแหล่งน้ำได้ 4) เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่และช่วยลดปริมาณขยะได้ ส่วน 2 ล. ประกอบด้วย 1) ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า ขยะน้อยกว่า และ 2) ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มาเป็นคู่หรือมากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ลดโลกร้อน และยังคงสืบสานประเพณีที่ดีงาม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว