กอปศ.ถกมาตรฐานครูอาชีวะ เน้นสมรรถนะ

กอปศ.ถกมาตรฐานครูอาชีวะ เน้นสมรรถนะ

กอปศ.หารือสภาพปัญหาการผลิต มาตรฐานครูอาชีวศึกษา ชี้เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องปฎิรูป ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติผลิตกำลังคน เน้นจุดใหญ่เสริมสมรรถนะครูอาชีวะด้านความรู้ในการสอน –ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ทางวิชาชีพ




วันที่ 20 พ.ย. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มานำเสนอสภาพปัญหาแนวทางและยุทธศาสตร์ของ สอศ. ซึ่ง กอปศ.ได้หารือในประเด็นสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษา รวมถึงมาตรฐานของครูอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการอาชีวศึกษา เพราะถ้าเปลี่ยนครูไม่ได้ก็ไม่สามารถปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ กอปศ.ได้แนวคิดที่จะนำไปสู่การปฎิรูปอาชีวศึกษาและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญที่ต้องตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา


นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ สอศ.นำเสนอสอดคล้องกับแนวทางการปฎิรูปอาชีวศึกษาที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ 3 เรื่องคือ การเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพในเชิงปฏิบัติ การทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทวิภาคี และการมีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดใหญ่ที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จ คือ ครูอาชีวะที่ให้ความสำคัญใน 2 เรื่องคือ สมรรถนะด้านความรู้ในการสอนอาชีวศึกษา และสมรรถนะทางความเชี่ยวชาญที่เป็นประสบการณ์ทางวิชาชีพ ซึ่งสมรรถนะหลังนี้ครูอาชีวะยังขาดอยู่มาก กอปศ.อยากเห็นครูอาชีวะได้มีโอกาสเข้าไปฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะรับครูเข้าไปฝึกปฏิบัติอาจจะใช้เวลา 3 เดือน ครูได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติกับเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเห็นในการปฎิรูปคือ ครูมีใบประกอบวิชาชีพครูด้านอาชีวศึกษา ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการครูอาชีวศึกษาที่ กอปศ.จัดทำขึ้นจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ครูอาชีวะมีสมรรถนะและส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น


นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ได้มีการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมถึงแนวคิดใหม่ๆที่จะนำมาพัฒนาระบบอาชีวศึกษา ซึ่งมีการกำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือการเป็นอิสระของสถานศึกษาหรือการมีรูปแบบใหม่ๆในการจัดการอาชีวศึกษา อาทิ การให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนประชารัฐหรือโรงเรียนร่วมพัฒนา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดการอาชีวศึกษามีกฎหมายเฉพาะดังนั้นคงต้องดูความเป็นไปได้ หรือการนำแนวคิดดังกล่าวไปบูรณาการในร่างกฏหมายที่จะมีการปรับปรุงต่อไป


นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการหารือพบว่า กอปศ.และ สอศ.มองเห็นปัญหาตรงกันและมีแนวทางการพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น กอปศ.จะบรรจุเรื่องของการปฎิรูปอาชีวศึกษาในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งจะมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ ความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ การพัฒนาอาชีวศึกษาต้องจัดเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่ด้วย ผู้ที่จบอาชีวศึกษานอกจากจะได้วุฒิการศึกษาแล้วต้องได้ใบรับรองฝีมือแรงงานเพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ และอาชีวศึกษาเอกชนต้องได้รับการดูแลให้เท่าเทียมอาชีวศึกษารัฐ