หุ่นยนต์ทหาร เบิกทาง‘สทป.’สู่ตลาด

หุ่นยนต์ทหาร เบิกทาง‘สทป.’สู่ตลาด

“ดี-เอ็มไพร์” ต้นแบบหุ่นยนต์เล็กเก็บกู้ระเบิด ฝีมือ สทป.และหน่วยวิจัยเครือข่าย ตอบโจทย์ความมั่นคงประเทศ ชูจุดเด่นเรื่องน้ำหนักเบา ฟังก์ชั่นครบในขณะที่ราคาถูกกว่าของนำเข้า 3-10 เท่า เตรียมส่งมอบ กอรมน. ภาค4 ส่วนหน้า ทดสอบใช้งาน

พลอากาศเอกปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. กระทรวงกลาโหม กล่าวภายในงานสัมมนา DTI Technolgy Challenge Day In Collaboration with Ravens Challenge ว่า ภารกิจตรวจการณ์ พิสูจน์ทราบ เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน สทป. จึงนำมาเป็นโจทย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมที่จะมาเป็นตา แขน ขาให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

“ต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดเล็ก” (D-Empire) จึงเกิดขึ้นจากการบูรณาการขีดความสามารถระหว่าง สทป. สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยรวมถึงภาคเอกชน ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับมาช่วยสนับสนุนภารกิจเพื่อความมั่นคง

โจทย์จากชายแดน

ดี-เอ็มไพร์ เกิดจากความต้องการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากหุ่นยนต์ที่ใช้ในภารกิจตรวจการณ์ พิสูจน์ทราบ เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดนั้นมีน้ำหนักมาก ทำให้การลงพื้นที่ไม่คล่องตัว จึงต้องการหุ่นยนต์น้ำหนักเบาที่่ยกได้ด้วยคนเดียว และมีต้นทุนถูกลงขณะที่่ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ครบตามต้องการ

ทีมวิจัยรับโจทย์จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ในช่วงปี 2559 และใช้เวลาเก็บข้อมูลความต้องการใช้งานจริง โดยเริ่มพัฒนาในปี 2560 หุ่นยนต์จะมีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ขีดความสามารถในการตรวจการณ์ พิสูจน์ทราบ สนับสนุนภารกิจเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ด้วยกล้องที่ทำหน้าที่แทนดวงตา มีแขนกลที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พร้อมความสามารถในการหยิบ ยกและฉีก กรณีมีวัตถุต้องสงสัย

ที่สำคัญคือ ต้นแบบหุ่นยนต์ดี-เอ็มไพร์มีต้นทุนอยู่ที่ 1 ล้านบาทขณะที่หุ่นยนต์ในภารกิจแบบเดียวกันที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคา 3-10 ล้านบาท ปัจจุบันพร้อมที่จะส่งมอบให้กับ กอรมน. เพื่อทดสอบใช้งานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการลอบวางระเบิด และนำผลการทดสอบใช้งานมาปรับปรุงให้สามารถทำงานได้ตรงความต้องการใช้งานในสถานการณ์จริง 

สทป.ยังมีหุ่นยนต์ต้นแบบอีกหลายตัว ที่เกิดจากโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็กและขนาดกลาง ผลจากโครงการจะถูกต่อยอดเชิงพาณิชย์หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. ... เตรียมพิจารณาในเดือนนี้ และคาดว่าจะเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ จะทำให้ สทป. สามารถร่วมทุนกับภาคเอกชนในการผลิตและจำหน่าย รวมถึงซ่อมบำรุงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้

“เรามีความพร้อมครบทั้ง 4 มิติคือ ต้นแบบหุ่นยนต์ฯ และอากาศยานไร้คนขับที่เป็นโปรดักท์แชมเปี้ยน และกลุ่มที่เป็นควิกวินที่สามารถผลิตได้เองในภาวะเร่งด่วน, ความต้องการใช้งาน, เอกชนที่มีศักยภาพในการผลิตและจำหน่าย และการรับรองมาตรฐานสากลและการรับรองการใช้งาน ซึ่งจะล้อไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะแรกจะมุ่งเน้นการทำควิกวิน โดยใช้ต้นแบบนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด"

ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

นอจากนี้ สทป.อยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ในเบื้องต้นจะมุ่งตลาดในประเทศทั้งใน 4 เหล่าทัพ ตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคง จากนั้นจะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือใกล้เคียงกับไทย

ในอนาคต สทป. จะปรับจากองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานพิเศษที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เพราะแม้จะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายให้กับหน่วยงานผู้ใช้ในประเทศ แต่ยุทธภัณฑ์เป็นสินค้าเฉพาะทางที่ตลาดจำกัดเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง และต้องมีกระบวนการต่างๆ ที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป

“การสร้างองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงประเทศ ทำให้ไทยพร้อมที่จะรับมือและตอบสนองกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็กระตุ้นเศรษฐกิจในการส่งเสริมภาคเอกชน สร้างธุรกิจภายในประเทศ สร้างงาน พร้อมกับพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอีกด้วย” พลอากาศเอกปรีชา กล่าว