นายก-กรรมการสภาอาชีวะ เล็งลาออกหากยื่นทรัพย์สิน

นายก-กรรมการสภาอาชีวะ เล็งลาออกหากยื่นทรัพย์สิน

เผยนายกสภา-กรรมการสภากลุ่มอุดมศึกษา อาชีวะเตรียมยื่นลาออก ด้านทปอ.หวั่นกระทบการบริหารงานมหาวิทยาลัย เตรียมประสานขอเข้าพบคกก.ป.ป. แจงสภามหาวิทยาลัยไม่ควรยื่นทรัพย์สิน คาดพ.ย.นี้ได้จำนวนลาออกชัด พร้อมย้ำอธิการบดี-รองอธิการยื่นทรัพย์สินไปแล้ว

เผยนายกสภา-กรรมการสภากลุ่มอุดมศึกษา อาชีวะเตรียมยื่นลาออก ด้านทปอ.หวั่นกระทบการบริหารงานมหาวิทยาลัย เตรียมประสานขอเข้าพบคกก.ป.ป. แจงสภามหาวิทยาลัยไม่ควรยื่นทรัพย์สิน คาดพ.ย.นี้ได้จำนวนลาออกชัด พร้อมย้ำอธิการบดี-รองอธิการยื่นทรัพย์สินไปแล้ว วอนนายก-กรรมการสภาฯอยู่ช่วยมหาวิทยาลัย

วันนี้ (19พ.ย. )ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สถาบันอาชีวศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และ สถาบันวิทยาลัยชุมชน(วชช.)ได้ประชุมหารือประเด็นประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เป็นครั้งที่ 2

โดย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานทปอ.กล่าวว่า หลังจากป.ป.ช. มีมติแก้ไขปัญหาให้ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์และหนี้สินแก่นายก และกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ไปอีก 60วันจากเดิมกำหนดต้องยื่นภายในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 เป็นในวันที่ 31 ม.ค. 2562 นั้น ที่ผ่านมา ทปอ.มีการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนับสนุนป.ป.ช.ในเรื่องที่อธิการบดีและรองอธิการบดีจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจึงอยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ที่ต้องมาหารือในเรื่องนี้เพราะการยื่นทรัพย์สินของสภามหาวิทยาลัยซึ่งส่งผลกระทบที่จะเกิดกับมหาวิทยาลัย เพราะนายกและกรรมการสภาฯ ลาออก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากการรับตำแหน่ง และสาเหตุในการลาออกคาดว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลว่าแต่ละคนจะมีความพร้อมในการยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการปกปิดทรัพย์สินหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนในกลุ่มสถาบันอาชีวะและวิทยาลัยชุมชนก็ต้องมีการยื่นทรัพย์สิน และสภามหาวิทยาลัยก็จะลาออกเช่นเดียวกัน

"ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน มีเพียงการสอบถามกัน และเท่าที่ทราบ มีจำนวนไม่น้อย ดังนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยก็พยายามวิงวอนขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ช่วยมหาวิทยาลัยต่อไป ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์(มรร.) นั้น ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ขอย้ำว่าอธิการบดี รองอธิการบดีม.รัฐทุกแห่งพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ”นายสุชัชวีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนสภามหาวิทยาลัยที่ลาออก คาดว่าจะทราบหลังจากมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยไป โดยส่วนใหญ่จะมีการประชุมในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ ทั้งนี้ เร็วๆนี้ ทปอ.จะประสานขอเข้าพบคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉบับนี้ เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่าอธิการบดีและรองอธิการบดีไม่ยินยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่กำหนด ซึ่งในความเป็นจริงอธิการบดีและรองอธิการบดีได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

ด้านนายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะปราบปรามการทุจริตภาค 2 กล่าวว่า ตามกฏหมายป.ป.ช. ได้กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารที่มีตำแหน่งเทียบเท่าด้วย อย่างผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษา นั้นตามพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา กำหนดว่าเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่ากับอธิการบดี รวมถึงรองผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาก็เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งกลุ่มน่าจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องยิ่นบัญชีด้วย เช่น นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา 23 แห่ง รวมถึงของวชช.ด้วย ดังนั้นผู้บริหารกลุ่มนี้จึงมาคุยกัน และเชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มอาชีวศึกษาจะออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนขึ้น

“ต้องเข้าใจด้วยว่า นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา นั้นจะดูเรื่องทางวิชาการเท่านั้น โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ รวมถึงการโยกย้ายผู้บริหาร เพราะส่วนกกลางของกระทรวงศึกษาธิการดูแล ดังนั้นจึงเป็นอีกกรณีที่ ป.ป.ช.จะต้องมาทบทวนด้วย ” นายจิตรนรา กล่าว