“มีเดีย” รุมทึ้ง...!! ชิงเวลาชีวิตผู้บริโภค

“มีเดีย” รุมทึ้ง...!! ชิงเวลาชีวิตผู้บริโภค

“สายน้ำไม่คอยท่า กาลเวลาไม่เคยคอยใคร” ประโยคย้ำความสำคัญของ “เวลา” ได้อย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำ หรือ “เวลา” ทั้งสองสิ่งไม่สามารถเรียกย้อนกลับมาได้ ผู้คนจึงถูกกระทุ้งจากคนรอบข้าง คำคม สุภาษิตสารพัดให้รู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดทุกวินาที

ทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง หากแบ่งภาคกลางวัน 12 ชั่วโมง เกินกว่า 50% จะหมดไปกับการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ ที่เหลือพอให้ผ่อนคลายชีวิต เสพความบันเทิง ออกกำลังกาย ทำสิ่งที่อยากทำ ส่วนภาคกลางคืน 12 ชั่วโมง จะหมดไปกับการนอนหลับพักผ่อน 6-10 ชั่วโมง อีก 4-6 ชั่วโมง ถูกใช้กับการทำกิจกรรมอื่นที่ๆชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูทีวี อ่านหนังสือ ฯ

แต่ปัจจุบันการใช้เวลาของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในมิติของการ เสพสื่อ เมื่อภูมิทัศน์สื่อไม่เหมือนเดิม จากจอแก้วหรือทีวีเป็นสื่อที่กินเวลายามว่าง ยามรีแลกซ์ของคนให้จับจ้องรอดูรายการโปรด วันนี้ “สื่อออนไลน์” หลากแพลตฟอร์มเข้ามามีอิทธิพลดึงความสนใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ เวลา เป็นเงินเป็นทอง ทำให้สินค้าและบริการ มีเดีย นักการตลาดพยายาม ยื้อแย่ง ช่วงเวลาชีวิตของผู้บริโภค เพราะหากเข้าไปอยู่ในทุกเส้นทางชีวิต(Customer Journey)ได้ โอกาส ทำเงิน จากผู้บริโภคย่อมมีตามมา

ในแวดวงอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่าเกือบ แสนล้านบาท ทั้ง สื่อเก่า และ สื่อใหม่ ต่างหาทางช่วงชิงสายตาคนดูให้หยุดเวลาสนใจแบรนด์ คอนเทนท์ฉันสักหน่อย เพราะถ้าทีวีมีเรตติ้งดี จะโกยเงินจากแบรนด์สินค้าได้ เช่นกันกับสื่อใหม่อย่างออนไลน์ ที่มีเรื่องราวล้นหลาน ถ้ามีสักคอนเทนท์เตะตาโดนใจกลุ่มเป้าหมายได้ การดูดเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคย่อมเป็นสิ่งที่ตามมา

เมื่อสื่อแบ่งเป็น 2 ฝั่ง เก่าและใหม่ การแย่งเวลาของคนผู้บริโภคดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะฝ่ายไหนโกยความสนใจได้มาก เม็ดเงินโฆษณาก็จะไหลเพิ่มตามสัดส่วน และหากมีผลต่อยอดขายสินค้าและบริการโต แบรนด์ย่อมแฮปปี้

สื่อไหนได้ใจคนดู?

เป็นประโยคคำถามที่รู้คำตอบดีว่า สื่อดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัล เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียมยืนอยู่ระยะ ขาลง มาพักใหญ่แล้ว แถมช่องทีวียังมากขึ้นเกิดศึกแย่ง Eyeball กันสนั่นจอเพื่อ เรตติ้ง พอช่องมาก เรตติ้งเลยกระจายแต่ละเจ้าได้ฐานคนดูหลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านต้นๆ การเห็นตัวเลขแตะหลักสิบล้านเหมือนในอดีตยาก ปีนี้เป็นปรากฏการณ์หรือปาฏิหารย์ ต้องยกให้ละคร บุพเพสันนิวาส กวาดคนดู เม็ดเงินโฆษณาได้สวยๆ

ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ระบุพฤติกรรมคนไทยใช้เน็ตกันถล่มทลายจริงๆ โดยปี 2561 เทเวลาให้เป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน พุ่งขึ้น 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวันจากปี 2560

ช่วงเวลาของการใช้ ถ้าเป็นวันทำงาน-เรียนเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 48 นาที พอเป็นวันหยุดให้เวลามากขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 51 นาที แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่ใช้กันมาก หนีไม่พ้น Facebook Youtube Twitter Instagram Line Line TV เป็นต้น

เมื่อผู้บริโภคเทใจดูสื่อออนไลน์ แบรนด์ นักการตลาดต้องโยกเงินไปใช้กับสื่อดังกล่าวกันคึกคักภวัต เรืองเดชวรชัยผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ฉายภาพเม็ดเงินโฆษณา 10 เดือน มูลค่า 72,222 ล้านบาท สัดส่วนของออนไลน์โกยเงินไป 16.9% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2560 อยู่ที่ 14.3% ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2559 อยู่ที่ 9% ปี 2558 อยู่ที่ 7.1% ปี 2557 อยู่ที่ 5.3%

สื่อดั้งเดิม ทีวี สัดส่วนลดลงเรื่อยๆ 10 เดือนแรกอยู่ที่ 55.4% ปี 2560 อยู่ที่ 56.4% ปี 2559 อยู่ที่ 62% ปี 2558 อยู่ที่ 63.7% และปี 2557 สัดส่วน 64.3% หนังสือพิมพ์ 10 เดือนแรกสัดส่วน 6.1% ปี 2560 อยู่ที่ 7.8% ปี 2559 อยู่ที่ 9.4% ปี 2558 อยู่ที่ 10.9% และปี 2557 สัดส่วน 11.5%

ปีที่ผ่านมา สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)หรือ DAAT เผยแพลตฟอร์มสื่ออนไลน์ที่ดูดเงินโฆษณาไปได้มากสุดคือเฟซบุ๊ค 4,084 ล้านบาท เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยใช้งานเฟซบุ๊คกันมาก เมื่อผู้บริโภคอยู่ไหน แบรนด์ต้องตามไปทำตลาดให้ประชิดตัว แถมจุดแข็งของเฟซบุ๊คสามารถทำตลาดแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายหรือ Targeted ได้อย่างแม่นยำ

ตามด้วยยูทูป 2,105 ล้านบาท วิดีโอออนไลน์ที่คนไทยเปิดทิ้งไว้ยาวๆ ฟังเพลง ฟังรายการโปรดได้โดยไม่ต้องมานั่งจับเจ่าหน้าจอ ยิ่งคนรุ่นใหม่เจนเนอเรชั่น Y และ Z ชอบใจกันมากับแพลตฟอร์มนี้สัดส่วน 99.6% แลพ 99.77% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นดิสเพลย์ การสืบค้นข้อมูล(Search Engine)ฯ แต่แนวโน้มที่มาแรงปีหน้า ยกให้ LINE TV เพราะหลังตั้งตัวเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอเต็มตัวทำให้รุกจับมือพันธมิตรผลิตคอนเทนท์เอง(Original Content)ดึงคนดู ดึงรายการเด็ดมาออกอากาศซ้ำ(Re-run) หามิวสิควิดีโอมาเสริม เพราะเป็นคอนเทนท์ที่คนใช้เวลาด้วยยาวๆ หากแข็งแรงขึ้น คนดู เรตติ้งเพิ่ม ลูกค้าจะเข้ามาซื้อโฆษณาตามไปด้วย

ปล่อยให้ออนไลน์แย่งเวลาของผู้บริโภคฝ่ายเดียวได้ไง ทีวีที่ ภวัต บอกว่าอานุภาพความร้อนแรงยังคงลดลง แต่ผู้ประกอบการแต่ละค่ายยังต้องพลิกเกมหาคอนเทนท์น้ำดีมาฉุดกระชากให้คนดูกลับไปเฝ้าหน้าจอให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นผลประกอบการกระเทือนแน่ๆ

ปี 62 แพลตฟอร์มออนไลน์ตีกันเละ!

ทำหน้าที่รับฟังเรื่องราวบนโลกออนไลน์(Social Listening)ทุกวัน นอกจากรู้ว่าผู้บริโภคยุคนี้คุยอะไรกันบนโซเชียลมีเดียแล้ว การเข้ามาของสื่อ แอพลิเคชั่นใหม่ๆ ทำให้เทรนด์และอนุมานสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

หนึ่งในเทรนด์น่าสนใจกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นำมาบอกเล่าคือ “ปีหน้าจะเป็นปีที่แพลตฟอร์มตีกันเละ!” เหตุผลเพราะการเข้ามาของวิดีโอออนดีมานด์ กับสตรีมมิ่ง จะเข้ามา “แย่งเวลา” ของโซเชียลมีเดียแบบเดิม ซึ่งโดยบทบาทของโซเชียลมีเดียเองเป็นเกมธุรกิจที่ แย่งเวลาของผู้คน” หากผู้บริโภคขลุกอยู่กับโซเชียลไหนมากๆ กินเวลานานๆ ย่อมมีเวลาจะขายโฆษณาได้มากขึ้น

เพราะเทรนด์วิดีโอออนดีมานด์ สตรีมมิ่งมาแรงขึ้น ยังทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่หยุดปรับตัว เฟซบุ๊คให้ความสำคัญกับวิดีโอมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดึงผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่กับเพจ เว็บไซต์ได้นาน

ซึ่ง “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” บอกให้รู้ตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่าวิดีโอคือ “เมกะเทรนด์” ที่จะเกิดขึ้น โดยประชากรเฟซบุ๊คใช้เวลาดูวิดีโอมากถึง 100 ล้านชั่วโมงต่อวัน

กล้า บอกอีกว่า เมื่อเทรนด์วิดีโอเกิด คอนเทนท์ก็ตามมา อีกอย่างที่ผุดพ่วงด้วยคือ “โมเดลธุรกิจใหม่” ของบรรดานักสร้างสรรค์คอนเทนท์(Content Creator) คนทำสื่อมีทางเลือกในการหารายได้จากการกดติดตาม(Subscibe) หวังเม็ดเงินโฆษณาแทรกในรายการ โดยไม่ต้องพึ่งพาสปอนเซอร์แบบเดิมๆอย่างเดียว

ทำธุรกิจไม่เกาะกระแส “จีน” อาจตกขบวน โลกออนไลน์ ใช่จะมีแต่แพลตฟอร์มสื่อ แอพลิเคชั่นจากชาติตะวันตกที่ทรงอิทธิพล เพราะปัจจุบันแอพลิเคชั่นจากแดนมังกรบุกตลาดไทยหนักมาก แนวโน้มในอนาคตจะเข้ามาอีกเรื่อยๆ มีอิทธิพลต่อประชากร และการทำตลาดของไทยเพิ่ม แค่ “TikTok” แอพน้องใหม่บูมในไทยไม่นานแต่โกยฐานผู้ใช้ได้ 2 ล้านบัญชี(Account)แล้ว

“สิ่งที่คนไทยต้องทำ ควรมีความเป็นคนไทยให้น้อยลง แต่เป็นประชากรโลกหรือประชากรเอเชียให้มากขึ้น นั่นคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก” เป็นการกระทุ้งให้คนไทยออกจากกรอบและต้องทันกระแสความเปลี่ยนแปลงเสมอ"

ผู้บริโภคหัวร้อนขึ้น!

ออนไลน์แรงไม่ตก ทีวีเสื่อมมนต์ขลัง นักการตลาดต้องหากลยุทธ์แบบไหนมารับมือการเสพสื่อของคอนซูเมอร์ ก่อนปล่อยไม้ตายการตลาดสยบลูกค้า นักการตลาดต้องคาดการณ์เทรนด์ปีหน้าให้ออกมาอะไรจะทรงอิทธิพลต่อการวางแผนธุรกิจ

เก๋าเกมในแวดวงดิจิทัลมานานอรรถวุฒิ เวศานุรักษ์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด ชำแหละเทรนด์ใหญ่ในปี 2562 ได้ 6 เทรนด์ ดังนี้

1.ผู้บริโภคใจร้อนขึ้นทวีคูณ อาการหัวร้อนจะเห็นแน่ๆ เพราะเทคโนโลยีความเร็วอินเตอร์เน็ต 5G ทำให้การสืบค้นหาข้อมูลเร็วขึ้น เลื่อน(Scroll) ดู Feed ข้อมูลข่าวสารใช้เวลาน้อยลง อย่างในสหรัฐชัดเจนมาก เน็ตสปีดเร็วทำให้คนหยุดดูสิ่งที่น่าสนใจใช้เวลา 1.7 วินาที จากก่อนหน้า 3 วินาที เร็วขนาดนี้ แบรนด์และนักการตลาดต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์สั้นๆ (Short form)สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

ส่วนเนื้อหาจะสั้นแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละแพลตฟอร์มด้วย อย่างเฟซบุ๊ค 3 วินาที แล้วยังไม่เข้าเรื่อง ลูกค้าหนีได้ ส่วนยูทูปถ้าลูกค้าหยุดดูคอนเทนท์เกิน 6 วินาที จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อแบรนด์ได้ มีโอกาสเกิด Brand preference หรือ Brand Recall

แบรนด์ต้องทำคอนเทนท์ให้สั้น ส่วนผู้บริโภคต้องการเซอร์วิสที่เร็วจากแบรนด์(Brand need to be short, service need to be fast) ตัวอย่างยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอาลีบาบา ได้ตั้งสโตร์สำหรับส่งสินค้าทุกประเทศ เพราะหัวใจหลักของธุรกิจคือต้องเดลิเวอรี่ถึงลูกค้าเป้าหมายภายในวันเดียว ให้เร็วสุดไม่ใช่สินค้าต้องถูกที่สุด

2.Data is Core ขุมทรัพย์ข้อมูลหัวใจสำคัญเคลื่อนกลยุทธ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ใครมข้อมูลเป๊ะ! ถือว่าได้เปรียบทางธุรกิจ เพราะช่วยให้วิเคราะห์ความต้องการ คาดการณ์แนวโน้มต่างๆ การเห็นภาพอนาคตจากข้อมูลเชิงสถิติช่วยให้นักการตลาดวางหมากรบได้แม่นยำมากขึ้น

ทว่า ที่น่าขบคิดคือขณะนี้มีผู้ที่นำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดน้อยเพียง 1% เท่านั้น แต่อีก 99% ยังต้องอัพเลเวลความเข้มข้นในการใช้ข้อมูล

ถ้าสินค้าและบริการไม่ให้ความสนใจกับข้อมูล จะเหมือนเป็นการว่ายน้ำในทะเล แล้วมองไม่เห็นอะไรที่สามารถเกาะได้ และ Data ทำให้นักการตลาดไม่ต้องหว่านเงินใช้สื่อเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายหยิบมือ

3.การเปลี่ยนผ่านสื่อหลายช่องทาง(Multi chanel) เป็นผสานทุกสื่อ(Onmi Chanel) เพิ่มประสบการณ์ลูกค้าได้ปฏิสัมพันธ์ข้ามสื่อทุกแพลตฟอร์ม ช่วยลดรอยต่อ(Seamless)ระหว่างแบรนด์และลูกค้า เพราะปัจจุบันการสื่อสารผ่านสื่อช่องทางเดียว เช่น โฆษณาทางทีวีอาจสร้างการรับรู้(Awareness) แต่การรัวหมัดตลาดต่อบนโลกออนไลน์จะช่วยทำให้เกิดการเข้าถึง การมีส่วนร่วมกับแบรนด์(Engagement)ฯ ขึ้นอยู่กับบทบาทของแต่ละสื่อด้วย อย่างเฟซบุ๊คต้องสื่อสารด้วยคอนเทนท์ที่ทำให้เกิด Impact ต่อผู้บริโภค อินสตาแกรมเชื่อมไลฟ์สไตล์ และทวิตเตอร์เพื่อความเร็วในการเป็นผู้กำหนดเทรนด์(Trend Setter)ให้เกิดกระแสบอกต่อ(Buzz Word) เป็นกองหนุนการทำตลาดให้แบรนด์สปริงบอร์ดไปยังสื่ออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การผสานสื่อจำเป็นต้องสร้าง Digital Eco System รอผู้บริโภคไว้ และอัพเดทข้อมูล ประวัติของผู้บริโภคให้ทันเหตุการณ์เสมอว่าไปเส้นทางในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคหรือ Customer Journey เริ่มจากจุดไหน ผ่านช่องทางใดบ้าง เพื่อที่แบรนด์จะได้ตัดทอนบางช่วงเพื่อให้กระบวนการซื้อสินค้าเกิดเร็วขึ้น

เทรนด์ที่ 4 พุ่งตรงไปที่“ผู้นำองค์กร”ต้องลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการทำตลาดดิจิทัล นอกเหนือจากตั้งรับการถูกเทคโนโลยี Disrupt เพื่อให้แม่ทัพนายกองอื่นๆ ฮึดตามได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากส่องไปยังองค์กรยักษ์ใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์(เอสซีบี) ผู้บริหารกำหนดนโยบายและปฏิบัติให้พนักงานเห็น ผลที่ตามมาคือผลงานการตลาด และการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลเห็นชัดเจนมาก

5.เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)และระบบสนทนาอัตโนมัติ(แชทบอท)จะเห็นภาพการทำงานที่มากกว่าตอบคำถามขั้นพื้นฐาน เพราะจะแอดวานซ์ไปช่วยขายสินค้าได้ด้วย บอกเล่าโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย ยิ่งกว่านั้นจะสามารถช่วยบริหารความรู้สึกของลูกค้า รวมถึงแก้ภาวะวิกฤติเบื้องต้น หรือกรณีเกิดวิกฤติง่ายๆได้อีกต่างหาก เพราะนับวันการเรียนรู้ของเทคโนโลยีถูกยกระดับให้ใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น

ปัจจุบันสินค้าที่นำแชทบอทมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดมีหลายกลุ่ม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

ปิดท้ายเทรนด์ที่ 6 ระบบจดจำอัตลักษณ์บุคคล เป็นการเก็บข้อมูลสินค้าจนระบุตัวตน ความแตกต่าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบสินค้า A และ B ได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี เพิ่มความแม่นยำในการจดจำอัตลักษณ์ได้อย่างดี ตัวอย่างการแท็กเพื่อนบนเฟซบุ๊คว่าใครเป็นใครมีความแม่นยำมากมากถึง 97.25% ขณะที่ศักยภาพของมนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆแล้วจดจำได้มีความแม่นยำ 97.4% ใกล้เคียงกันมาก แต่ตัวเลขความแม่นของเฟซบุ๊คหลายปีแล้ว ปัจจุบันอาจอัพเลเวลความแม่นเป๊ะกว่าเดิม

ในฐานะดิจิทัล เอเยนซี่ เพื่อรับเทรนด์ดังกล่าว อะแด็ปเตอร์ฯ จึงคลอด 2 บริการใหม่ “adapter analytica” เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจลูกค้า โดยอาศัยแหล่งข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่สัมพันธ์กับแต่ละกลุ่ม และ “adapter innovation” สรรหานวัตกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจลูกค้า ผานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและพัฒนาขึ้นมาใหม่มาผสมผสานในการสร้างประสบการณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคให้ดีขึ้น

-------------------------------

ต่อมเผือก! อีกตัวตนชาวโซเชียล

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บิ๊กบอสไวซ์ไซท์ เล่าว่า ปี 2561 ผู้บริโภคโลกออนไลน์เสพโซเชียลคุยกันสนั่นเมือง ทั้งบันเทิง ธุรกิจ เรื่องราวสังคม ฯ เกิดปริมาณข้อมูลมากถึง 5.3 พันล้านข้อความ เติบโต 43% จากปีก่อนมี 3.6 ล้านข้อความ โดยทุก 1 นาทีละ 10,000 ข้อความ หากสกัด Big Data มาใช้ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ สังคม และประเทศได้ไม่น้อย

สำหรับธุรกิจต้องสนข้อมูลนี้ เพราะข้อความที่พูดกันมากมาย ส่วนใหญ่พูดถึงดารา 10 เทียบกับแบรนด์พูดถึง 1 เท่านั้น แล้วชาวโซเชียลชอบมีส่วนร่วมกับเรื่องของคนอื่น(เ_ือก)มากถึง 2.9 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนิยามการมีส่วนร่วม สนเรื่องคนอื่นกลายเป็นคำเก๋ๆ เช่น Passion ใคร่รู้ อยากมีส่วนร่วม เป็นห่วง หลังไมค์ เปิดวาร์ป ปักหมุดรอ เป็นต้น

แบรนด์จึงต้องดึงศิลปิน ดารามาเป็น Influencer ช่วยทำการตลาดสร้างแบรนด์ อย่างเป๊ก ผลิตโชค

ที่ผ่านมามีการพูดถึง รีทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เป็นสิบล้านรีทวีต สะท้อนการเข้าถึง(Reach) และการมีส่วนร่วม(Engagement)ระหว่างแบรนด์ ผู้บริโภค และศิลปินคนโปรด ปูทางไปสู่การสร้างยอดขายได้

เทคโนโลยี มี 2 ด้าน ดีและไม่ดี สิ่งสำคัญคือความรู้ ถ้ามีความรู้จะทำให้เราไม่เข้าไปทำอะไรในด้านมืด ความรู้ทำให้สามารถแงะดาต้าออกมาดูได้ และมันไม่อะไรจะดีไปกว่า ความเข้าใจคนทั้งประเทศ ผ่านโซเชียลมีเดีย ดาต้าไม่ใช่อะไรที่ยาก มันเป็นเรืองสนุก