ปั้น 'ดาวดวงใหม่' วิชั่น 'อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์'

ปั้น 'ดาวดวงใหม่' วิชั่น 'อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์'

เมื่อผลิตภัณฑ์สาหร่ายอย่างเดียวคงทำ 'รายได้' มากกว่า 'หมื่นล้าน' ได้ยาก...!! 'อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์' ผู้ก่อตั้ง 'เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง' ปรับทัพเล็งปั้น 'สตาร์ดวงใหม่' เสริม ผลักดันฐานะการเงินเติบโตไม่หยุดยั้ง...!!

แม้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 ของ บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า 'เถ้าแก่น้อย' จะออกมาไม่โดดเด่น สะท้อนผ่าน 'ตัวเลขกำไรสุทธิ' ปรับตัวมาอยู่ที่ 128.77 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ระดับ 160 ล้านบาท 

สอดคล้องกับราคา 'หุ้น TKN' ที่ปรับตัว 'ลดลง 55.41%' จากต้นปี 2561 ที่ทำราคาหุ้น 'สูงสุด'  23.10 บาท (25 ม.ค.2561) และ 'ราคาต่ำสุด' 10.30 บาท (12 พ.ย.2561) 

แต่หากพิจารณาสตอรี่ที่อาจช่วยผลักดันฐานะการเงินและราคาหุ้น TKN ให้ปรับตัวดีขึ้นต่อไปนั้น ทำให้พอเห็นภาพว่า เหตุใดที่ผ่านมาหุ้น TKN จึงกลายเป็นขวัญใจของนักลงทุน เช่น 'ประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์' ถือหุ้นสัดส่วน 1.20%  'สุระ คณิตทวีกุล' ถือหุ้นสัดส่วน 0.52% 'พะเนียง พงษธา' ถือหุ้น 0.51% (ตัวเลข ณ วันที่ 24 ส.ค.2561) 

ในแง่ของแผนการดำเนินงาน 'ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เล่าให้ฟังว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำแผน 'ธุรกิจฉบับใหม่' (New Business) คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2562 หลังจากแผนธุรกิจเดิมเป็นกลยุทธ์ที่วางไว้และใช้มาร่วม 7 ปีก่อนแล้ว โดยในแผนธุรกิจใหม่บริษัทจะต้องพัฒนา 'สตาร์ดวงใหม่' เพิ่มเข้ามาเสริม เพื่อจะทำให้บริษัทเติบโตไม่หยุดยั้ง หากบริษัทใช้แผนธุรกิจใหม่ในปีหน้ามีโอกาสจะเห็นการเติบโตเฉลี่ยมากกว่าที่วางเป้าไว้ 10% 

โดยล่าสุดบริษัทเตรียมเปิดธุรกิจใหม่ 'ร้านอาหารบริการด่วน' หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น และยังได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการขยายแฟรนไชส์ดังกล่าว คาดว่าจะเปิดในช่วงปลายปีนี้จำนวน 1 สาขา 

'การที่จะทำยอดขายมากกว่าหมื่นล้านบาทได้นั้น มีผลิตภัณฑ์สาหร่ายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว เราต้องมีธุรกิจตัวใหม่ๆ เข้ามาเสริม'

สำหรับภาพรวมยอดขายในปี 2561 บริษัทวางเป้าหมายเติบโต 12-15% เช่นเดิม บ่งชี้ผ่านรายได้งวด 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2561 คาดว่าจะมียอดขายดีกว่าไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารพิเศษ และยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ  

โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษส่งผลให้กำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก '4 ปัจจัย' ประกอบด้วย 1. มีค่าปรับหลังการจ้างผู้รับเหมากำจัดขยะจากโรงงานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2. ค่าเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้กับคู่ค้ารายใหม่ที่ประเทศจีน 3. อัตรากำไรขั้นต้นลดลงหลังลงเครื่องจักรใหม่ และ4. การลงทุนในสหรัฐฯ ที่ใช้แบรนด์ใหม่ NORA ซึ่งยังขาดทุนอยู่  

'ซีอีโอ' เล่าต่อว่า สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 4/2561 เนื่องจากในช่วงปลายปีมีมาตรการรัฐเรื่องฟรีวีซ่า 21 ประเทศหนุน ด้านการเปิดสาขาที่เพิ่มขึ้นหนุนยอดขายโต และทำแคมเปญใหม่ๆ กระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 300-400 บาทต่อบิลต่อคน เป็น 500-600 บาทต่อบิลต่อคน นอกจากนี้สัดส่วนนักท่องเที่ยวมีเพียง 10-15% ของยอดขายในประเทศ 

ณ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 40% , ประเทศจีน 40% และประเทศอื่นๆ 20%สำหรับภาพรวมปี 2562

'อิทธิพัทธ์' วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเติบโตกว่าปีนี้ โดยเป็นไปตามยอดขายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งในประเทศน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้น การเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศดีขึ้น รวมถึงมีแผนออกสินค้าใหม่ แบ่งเป็นขนมประเภทสาหร่าย จำนวน 2 ชนิดต่อปี และที่ไม่ใช่สาหร่ายอย่างน้อย 1-2 ชนิดต่อปี ซึ่งจะช่วยผลักดันมาร์จินให้ดีขึ้นด้วย 

'คาดว่าจะช่วยดันให้อัตรากำไรขั้นต้นปีหน้าโตขึ้นแตะระดับ 33% ได้ และมีโอกาสแตะถึง 35% หากปัจจัยแวดล้อมหนุน ทั้งนี้ปัจจุบันอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31%'   

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้ายังมีแผนออกสินค้าใหม่ๆ ประมาณ 4 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มสาหร่าย 2 ชนิด และอื่นๆ อีก 2 ชนิด และนโยบายจะเป็นแบบนี้คือ มีสินค้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สาหร่ายเพิ่มเข้ามา และ สินค้าที่เป็นสาหร่ายตัวใหม่  

'เถ้าแก่น้อยพึ่งเริ่มต้นยังสามารถเติบโตได้อีกมาก สะท้อนผ่านคนทั่งโลกกว่า 7,000 ล้านคน บริโภคสาหร่ายไม่ถึง 600 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น จะเห็นว่าช่องทางการเติบโตยังมีอีกมหาศาล'

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีสินค้าใหม่ 4 ชนิด ได้แก่  สาหร่ายเทมปุระไข่เค็ม , สาหร่ายทอดวาซาบิ , เวย์โปรตีนรสสตอเบอร์รี่ และล่าสุดปลาหมึกแผ่นปรุงรสไข่เค็ม TinTen ที่ใช้งบการตลาดประมาณ 20 ล้านบาท โดยใช้พรีเซนเตอร์ BNK48 รุ่น 2 ทั้งนี้งบ Sell & Maketing ใช้ 10% ของยอดขายรวม  

สำหรับ การเติบโตใน 'ตลาดต่างประเทศ' โดยบริษัทโฟกัสในตลาดจีนและสหรัฐฯ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งปัจจุบัน 'ตลาดเมืองจีน' ล่าสุด บริษัทได้มีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายในประเทศดังกล่าวใหม่ ยอมรับว่าอาจเห็นผลกระทบในช่วงต้นไตรมาส แต่เชื่อว่าจะสามารถกลับมาได้จากการส่งออกสินค้าใหม่ ๆ โดยจีนยังมีสัดส่วนยอดขายที่ 39-40% ในปีนี้  และมองว่าก็น่าจะเห็นการทำการตลาดและยอดขายที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในปีหน้า  

ขณะที่ 'ตลาดสหรัฐฯ' หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการประเภทขนมในสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อภายใต้ 'แบรนด์ NORA' นั้น บริษัทก็ตั้งเป้ายอดขายปีนี้อยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 5 ล้านดอลลาร์ ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ถึง 'จุดคุ้มทุน' ในช่วงปลายปีหน้า ก่อนพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2563

ด้านตลาดในอาเซียน ตอนนี้ตลาดที่กลับมาสร้างยอดขายดีขึ้นจะเป็นตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเฉพาะ 'ตลาดอินโดนีเซีย' หลังจากบริษัทได้ใบรับรองสินค้าใหม่ ยอดขายค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น คาดว่ายอดขายที่ประเทศอินโดนีเซียจะกลับสู่ภาวะปกติที่เคยทำได้ประมาณ 200-300 ล้านบาท ในปีหน้าเป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 8.2 พันตันต่อปี หลังจากเพิ่มเครื่องจักรใหม่แล้ว คาดว่าจะช่วยหนุนให้กำลังการผลิตในช่วงปลายปีนี้เพิ่มเป็น 1 หมื่นตันต่อปี เพื่อรองรับการขายสินค้าในปี 2562  

ท้ายสุด 'อิทธิพัทธ์' บอกว่า จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าเราจะเป็นผู้ผลิตสาหร่ายและส่งออกไปตลาดโลก โดยเป้าหมายใหม่นี้เราจะเปิดกว้างกว่าเดิม เพื่อทำให้บริษัทมีการเติบโตต่อเนื่อง และช่วยให้ TKN เติบโตแบบไม่หยุดยั้ง 

'กำไรสุทธิ' ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อ Outlook ของ TKN มากขึ้น หลังต้นทุนราคาสาหร่ายในปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวลง จาก Supply ที่มาก อีกทั้งทาง TKN ได้ Stock สาหร่ายต้นทุนใหม่ของปี 2561 ไว้เพียงพอจนถึงครึ่งปีแรก 2562  ซึ่งมองว่า Gross profit margin ปีหน้าจะขยายตัว 

สำหรับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงส่งผลกระทบต่อ TKN ไม่มากเนื่องจากทาง TKN ได้ปรับกลยุทธ์เพิ่ม Ticket size อีกทั้งผู้บริหารมองว่า TKN USA จะสามารถเริ่มมีผลประกอบการเป็นกำไรตั้งแต่ปลายปีหน้า และจะทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561 ยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากไตรมาสก่อน และ ช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเข้าสู่ High season อีกทั้งรายได้ต่างประเทศยังคงเติบโตดี สะท้อนผ่าน ยอดขายจีนวันคนโสด 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เติบโตก้าวกระโดด ทำให้ผู้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้ขยายตัว 15%  เทียบกับปีก่อน 

สำหรับปี 2562  คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 842 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน หนุนโดย Gross profit margin ที่ปรับตัวดีขึ้น จาก Utilization rate ที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนสาหร่ายในปีหน้า ที่มีแนวโน้มที่ลดลง สำหรับตลาด US คาดว่าจะ breakeven (คุ้มทุน) ในช่วงปลายปีหน้าจากการเป้าหมาย รายได้ที่ 5 ล้านดอลลาร์      

อย่างไรก็ตาม คงคำแนะนำ 'ซื้อ' และ rollover ราคาเป้าหมายเป็นปีหน้าที่ 16.00 บาท (จากเดิม 20.00 บาท) มองว่าราคาหุ้น Underperform มานานมากแล้ว อีกทั้ง ราคาที่ปรับตัวลงมาใน 6 เดือนที่ผ่านมา ได้สะท้อนผลการดำเนินงานปี 2561 ที่เติบโตชะลอตัวไปแล้ว 

'มองว่านักลงทุนจะคลายความกังวลเรื่องต้นทุนสาหร่ายที่จะปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่ากำไรสุทธิของ TKN ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แนะนำให้เข้าซื้อสะสม หุ้น TKN'