ระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์ในคลังสินค้า ทุนสเปียร์เฮดหนุน 50 ล้านบาท

ระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์ในคลังสินค้า ทุนสเปียร์เฮดหนุน 50 ล้านบาท

สวทน. ดึงงบสเปียร์เฮดสนับสนุนโครงการละ 40-50 ล้านบาทนำร่องพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในคลังสินค้า หวังยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ มุ่งลดต้นทุนค่าขนส่งเหลือ 12% ภายใน 2 ปีส่งผลให้ต่างประเทศเข้าลงทุนเพิ่ม 

นายรวมพล จันทศาสตร์ อุปนายกสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต (TLAPS) กล่าวว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศไทยอยู่ที่ 14% ของจีดีพี ตามแผนพัฒนาโลจิสติกส์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ตั้งเป้าปี 2564 ลดลงเหลือ 12% ซึ่งมีความเป็นไปได้หากสามารถพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยปัญหาหลักที่พบคือ ไม่สามารถควบคุมเวลาและคุณภาพการให้บริการ จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งระบบราง อุปกรณ์การขนถ่ายรวมทั้งสถานี 

ปัจจุบันการขนส่งหลักในประเทศไทยใช้ทางบก (ถนน) สัดส่วนประมาณ 88% ทางน้ำไม่เกิน 2% ทางอากาศ 3% ทางราง 1.5% ฉะนั้น ทางบกยังจำเป็นต้องพัฒนา เนื่องจากว่าข้อดีคือสามารถนำสินค้าเข้าไปถึงปลายทางได้ แต่ข้อเสียคือต้นทุนสูง บรรทุกได้น้อย จึงมีความพยายามที่จะสร้างทางด่วน มอเตอร์เวย์และวงแหวนต่างๆ เพื่อให้การขนส่งสะดวกขึ้น ทางรถไฟจะเป็นในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง ส่วนน้ำหรือเรืออาจจะช้าเพราะกำลังมีโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่ท่าเรือกรุงเทพยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ส่วนทางอากาศก็ได้ขยายสนามบินอู่ตะเภา ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชื่อมโยงโครงข่ายที่จะเติบโตในอนาคต

การลดต้นทุนโลจิสติกส์จะทำให้ต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนจะสามารถลดต้นทุนลงได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้นต้องรอดูแรงผลักดัน ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายภาครัฐ แต่แนวโน้มที่ผ่านมาตัวเลขต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ การทำโลจิสติกส์เพื่อหาเงินเข้าประเทศนั้น ภาคการท่องเที่ยวจะมีศักยภาพมากกว่าภาคการขนส่งสินค้า เพราะเวลาที่ขายสินค้าไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องขนของไปต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนค่าโลจิสติกส์ แต่ถ้าเป็นการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วใช้เงินในประเทศ ฉะนั้น หากส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกๆ มิติ ไทยก็จะสามารถมีรายได้เข้าประเทศได้อย่างยั่งยืน

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ในเชิงนโยบาย ระบบขนส่งทางรางจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในภูมิภาคที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกหรืออีอีซี รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะขยายต่อไปในอนาคต แต่ต้องสร้างความสามารถในระบบเทคโนโลยี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือเริ่มต้นจากการสร้างคน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน ถัดมาเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะเข้ามาได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคน และการพัฒนาระบบตรวจสอบมาตรฐานตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความสำคัญ และพยายามจะไปให้ถึงคือ การทำวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมในบางจุด

สวทน.พยายามส่งเสริมให้เกิดการวิจัยทางด้านโลจิสติกส์ผ่านโครงการสเปียร์เฮด ซึ่งสนับสนุนงบวิจัยแก่บริษัทเอกชนที่ต้องการทำนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยจัดสรรให้โครงการด้านโลจิสติกส์ 40-50 ล้านบาทต่อโครงการ เริ่มจากการพัฒนาระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ยกของในคลังสินค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ การวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ลดต้นทุน และพัฒนาบริการใหม่ออกมาเมื่อคิดในเชิงของนวัตกรรม ส่วนเรื่องการพัฒนาบุคลากรจะมีความชัดเจนขึ้น แบบครบวงจร โดยมหาวิทยาลัยทำหลักสูตรขึ้นมา สถาบันวิชาชีพจะดูเรื่องทักษะความสามารถที่โดดเด่นแล้วนำไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม

“ที่ผ่านมา เรามีความร่วมมือหลายด้านระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ไทยกับจีน หนึ่งในนั้นคือระบบขนส่งทางราง โดย 3 ปีที่ผ่านมาไทยศึกษาดูงานที่จีนทุกปี ปีละ 10 คน ผมคิดว่าในมุมเทคโนโลยีประเทศจีนไปไกลมาก ฉะนั้น ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต"