ปลดล็อคระเบียบ กพฐ.คกก.สถานศึกษา

ปลดล็อคระเบียบ กพฐ.คกก.สถานศึกษา

สพฐ.ปลดล็อคระเบียบ กพฐ. เรื่องคณะกรรมการสถานศึกษา คาดเริ่มใช้กับกับกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาก่อน ระบุเกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษา

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)มีนโยบายพัฒนาสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มีภาคเอกชน 12 หน่วยงานเข้าร่วมพัฒนาโรงเรียน 50 โรง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา2561 สำหรับรุ่นปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สพฐ.) ได้เสนอรายชื่อโรงเรียน 42 โรงให้คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานพิจารณา ซึ่งขณะนี้บางโรงเรียนมีภาคเอกชนเสนอจับคู่ร่วมพัฒนาแล้ว แต่ยังมีบางกลุ่มที่มีความพร้อม แต่ยังไม่ได้จับคู่ และปีนี้ พบว่ามีภาคเอกชนกลุ่มใหม่เสนออยากจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย

ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือ สพฐ.ได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบ กพฐ.เรื่อง คณะกรรมการสถานศึกษา กำหนดให้โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษทุกขนาดมีคณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 15 คน ในจำนวนนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน โดยเริ่มใช้กับกับกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาก่อน จากเดิมกำหนดให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคณะกรรมการสถานศึกษา 9 คน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ 15คน โดยเร็วๆนี้ เสนอระเบียบดังกล่าวให้ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน กพฐ.ลงนาม จากนั้น สพฐ.จะแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่ได้รับการยกเว้นตามระเบียบ สพฐ.เพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากบอร์ดบริหารฯ อยากให้สพฐ.ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษา เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษามีความสำคัญทั้งการกำกับดูแลการบริหารงาน บริหารบุคลากร บริการงบประมาณ มีหน้าที่อนุมัติหลักสูตรสถานศึกษาเป็นหลักสูตรเพิ่มที่โรงเรียนจัดขึ้นสอดคล้องกับพื้นที่ เพราะฉะนั้น ถ้าให้มีคณะกรรมการชุดเดิมอาจไม่เพียงพอ และเมื่อมีการร่วมมือจัดการศึกษาภาคเอกชนก็น่าจะสามารถมาร่วมวางแผนหลักสูตรได้ เช่น บริษัทน้ำตาลที่ร่วมพัฒนาโรงเรียน อยากให้เด็กทำอะไรร่วมกับชุมชนได้ ก็ต้องไปวางแผนจัดการศึกษา เป็นต้น ซึ่งครั้งนี้กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ก็เชื่อว่าจะมีการสอบถามความเห็นจากชุมชนและเสนอชื่อเข้ามา เพราะฉะนั้น ถือเป็นการมาร่วมพัฒนาร่วมคิด ร่วมทำ เป็นการยืดหยุ่นเพื่อให้โรงเรียนเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง และถือเป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโดยเริ่มจากโรงเรียนร่วมพัฒนาก่อน และขยายไปกลุ่มโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนจะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่นวัตกรรม