อึ้ง! ฉีด 'ยาปฏิชีวนะ' เข้าต้นส้ม คนกินเสี่ยงรับยามือ2

อึ้ง! ฉีด 'ยาปฏิชีวนะ' เข้าต้นส้ม คนกินเสี่ยงรับยามือ2

ไม่รู้ตัว! แฝงในผลส้ม แพ้อันตรายถึงตาย ใช้แพร่หลายสวนทางเหนือ-กลาง หวั่นตกค้างสิ่งแวดล้อมระยะยาวก่อเชื้อดื้อยา หมดยารักษาเจ็บป่วยทั่วไป ลั่นต้องหยุดใช้ทันที จี้สธ.ตรวจสอบเส้นทางลักลอบขาย "เคมีภัณฑ์ยาอันตราย"

ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ผู้ประสานกลุ่มติดตามปัญหายาชายแดน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า ทีมทำงานยาชายแดนในนามเภสัชชายแดนที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ เพื่อติดตามการใช้ยาพื้นที่ชายแดน ขอบประเทศและประเทศพื้นบ้าน พบปัญหาหนึ่งคือเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในผักผลไม้ในภาคเหนือ เจอใช้ยาปฏิชีวนะในส้มโอและส้ม ซึ่งทีมทำงานค่อนข้างยากในการเข้าถึงสวน แต่มีทีมภาคประชาชนในพื้นที่ที่เป็นเครื่อข่ายประสานงานเข้าไปที่สวนแล้วพบว่ามีสวนส้มจำนวนหนึ่งใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ที่เป็นยาปฏิชีวนะ ฉีดเข้าไปในต้นส้ม โดยเกษตรกรที่ดูแลสวนบอกว่าใช้มานานตามมร่เจ้าของสวนบอกและไม่ทราบถึงอันตราย ซึ่งเรื่องนี้ในแวดวงสาธารณสุขยังไม่มีการพูดถึงมากนัก ขณะที่แวดวงเกษตรรู้มานาน เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ยากลุ่มนี้สามารถรักษาโรคกรีนนิ่งในต้นส้มที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จัดเป็นโรคร้ายพืชตระกูลส้ม หากรักษาโรคนี้ได้ก็จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้สวนส้มได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้ไม่เฉพาะสวนส้มในภาคเหนือแต่สวนส้มภาคกลางก็มีการใช้ด้วยและมีแนวโน้มจะมีการใช้แพร่หลายมากขึ้น จะฉีดยาเข้าต้นส้มทางสายเหมือนลักษณะการให้น้ำเกลือ 3-4 ครั้งต่อปี

8866699679933

ภก.สุภนัย กล่าวอีกว่า ยากลุ่มอะม็อกซีซิลลิน เป็นยาปฏิชีวนะลำดับต้นๆที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อในคน จัดเป็นยาอันตรายที่ต้องนำส่งโดยเภสัชกร การใช้ยานี้ในพืชเช่นนี้ทางสาธารณสุขมีความห่วงใยอย่างมาก ได้แก่ 1.การตกค้างในสิ่งแวดล้อม น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน แม้งานวิจัยจะบอกว่าไม่มีการตกค้าง แต่ต้องไม่ลืมว่างานวิจัยกับการข้อเท็จจริงจากใช้จริงต่างกันเสมอ เพราะมีความแตกต่างในเรื่องปริมาณการใช้และบริบทแวดล้อมอื่นๆ 2.คนกินส้มจะได้รับยาปฏิชีวนะมือสองโดยไม่รู้ตัว โอกาสที่คนแพ้ยานี้ได้รับยาแฝงแล้วมีอาการเฉียบพลัน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แม้อุบัติการณ์การแพ้ยากลุ่มนี้รุนแรงจะมีไม่มากก็ตาม แต่สำหรับคนที่แพ้เมื่อกินส้มโดยไม่รู้ว่ามียานี้แฝงอยู่ เมื่อมีอาการแพ้ไปพบแพทย์ก็จะไม่รู้ว่าแพ้อะไร เพราะเพียงแค่กินส้ม ทำให้แพทย์ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ 3.กลุ่มเกษตรกรที่ใช้ยา ในทางเภสัชศาสตร์ถือว่าเป็นการนำยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ซึมเข้าผิวหนังและเกิดการแพ้ในทันที เพราะเกษตรกรที่ใช้ไม่ได้ใช้เป็นยาแคปซูลแต่ใช้สารเคมีภัณฑ์เป็นผงเป็นถังๆ โอกาสฟุ้งกระจายก็มีสูงด้วย สำหรับระยะยาวมีโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา จากการที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อไม่สมเหตุสมผล ใช้เกินจำเป็น ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเอง แข็งแรงขึ้น ทำให้ยาระดับต้นที่เคยรักษาการติดเชื้อได้ใช้ไม่ได้ผลอีก และหากมีการดื้อยามากขึ้น ก็จะไม่มียาระดับไหนที่จะรักษาได้อีก ต้องเสียชีวิตจากโรคทั่วไปที่ไม่น่าจะต้องเสียชีวิต เช่น เจ็บคอ ท้องเสีย เป็นต้น

8866699728070

ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตกค้างของยานี้ จากการใช้ฉีดเข้าต้นส้มว่ามีหรือไม่ มากน้อยขนาดไหน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำก่อนในทันทีคือการหยุดใช้ไม่ต้องรอพิสูจน์ จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องพิสูจน์การตกค้าง ด้วยการตรวจสุขภาพร่างกายเกษตรกรผู้ใช้ สุ่มเก็บตัวอย่างดิน น้ำในพื้นที่หาสารตกค้าง ขณะที่เกษตรกรควรหันไปใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์แทน นอกจากนี้ จะต้องเร่งตรวจสอบเส้นทางการขายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยานี้ให้กับเกษตรก่อนด้วย เพราะทางกฎหมายยาถือว่าเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยาก็จัดเป็นยาด้วย กรณีนี้เป็นยาอันตรายการขายยานี้โดยไม่ใช่เภสัชกรจึงมีความผิด จำเป็นต้องตรวจสอบเอาผิดกับคนขายและผู้ผลิต ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าบางพื้นที่มีขายในร้านทั่วไป รวมถึงร้านขายของชำด้วยทั้งที่เป็นยาอันตราย อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขอันดันแรกต้องมีการตระหนักและยอมรับว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้สธ.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉุกคิดและตื่นตัวที่จะแก้ปัญหานี้ร่วมกัน สำหรับผู้บริโภคที่รู้ตัวว่าแก้ยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคที่ยังไม่แน่ใจว่ามีสิ่งที่ตนเองแพ้แฝงอยู่หรือไม่ ส่วนผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการแพ้และอยากกินส้มก็ไม่ควรกินครั้งละมากๆและเว้นระยะการกิน เช่น 7 วัน และเลือกผลิตผลจากส่วนเกษตรอินทรีย์

"ย้ำว่าที่ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ต้องการหักล้างข้อมูลทางเกษตร หรือทำลายสวนส้ม แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงปัญหาและข้อกังวลในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อมาหาแนวทางออกร่วมกัน ที่สำคัญต้องการให้คนไทยและเกษตรกรเกิดการตระหนักไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น เพราะตอนนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มเจอเชื้อดื้อยามากขึ้น โดยประเทศไทยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000-38,000 คน ผู้ป่วยต้องนอนรพ.นานกว่าปกติ คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 46,000 ล้านบาท มากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและอุบัติเหตุ" ภก.สุภนัยกล่าว