'หมอธี' ฝากกศน.เคาะประตูบ้านนำเด็กเข้าสู่การศึกษา

'หมอธี' ฝากกศน.เคาะประตูบ้านนำเด็กเข้าสู่การศึกษา

"รมว.ศธ." เผยผลสำรวจเด็กกศน. ชี้มีเด็กตกหล่น-ออกกลางคัน ฝากกศน.ขยายโอกาสทางการศึกษาทั่วถึง เคาะประตูบ้านนำเด็กเข้าสู่ระบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมให้ทบทวนร่างมาตรฐานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เหตุไม่มีความชัดเจน

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.61 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงทิศทางการจัดการศึกษาของ กศน. เนื่องจาก กศน.ได้มีการรายงานตัวเลขการจัดทำระบบฐานข้อมูลติดตามประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาและการสื่อสาร และสำนักติดตามและประเมินผลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสำรวจตรวจสอบและติดตามประชากรวัยเรียน โดยขยายผลการดำเนินการสำรวจและตรวจสอบต่อเนื่อง ณ วันที่ 14 พ.ย.61 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 1,243,087 คน คิดเป็น 71.97% โดยมีผลการสำรวจดังนี้ ผู้ที่เรียนในสถานศึกษาภายในประเทศและต่างประเทศ 311,949 จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า 258,005 ไม่มีตัวตนและเสียชีวิตแล้ว 252,954 คน จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 219,831 คน เด็กพิการ 24,745 คน เด็กปกติที่ไม่ได้เรียนหนังสือ 99,472 คน และเด็กออกกลางคัน 83,459 คน ซึ่งข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ อยากให้ กศน.ได้มีการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน เพื่อนำกลุ่มเด็กเหล่านี้ให้มารับโอกาสทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการเรียนสายอาชีพ หรือ การศึกษานอกระบบ โดย กศน.จะต้องดำเนินการเคาะประตูบ้านนำเด็กเข้าสู่ระบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ยังให้ กศน.กลับไปทบทวนร่างมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งจะประกอบไปด้วย มาตรฐานการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานการศึกษาต่อเนื่อง มาตรฐานการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งร่างมาตรฐานดังกล่าว เห็นว่ายังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งยังมีรายละเอียดบางประเด็นที่ไม่ชัดเจน เพราะหากประกาศการใช้มาตรฐานนี้ออกไปจะไม่สอดคล้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษา ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ขณะเดียวกันได้เห็นมาตรฐานอาชีวศึกษาแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำไว้ดีมาก จึงให้สอศ.มาช่วย กศน.ปรับเรื่องมาตรฐานให้มีทิศทางที่ชัดเจนต่อไป