'ปานเทพ' แนะนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย อย่ากลัวยื่นทรัพสินแล้วผิด

'ปานเทพ' แนะนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย อย่ากลัวยื่นทรัพสินแล้วผิด

“ปานเทพ” แนะ "นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย" อย่ากลัวยื่นทรัพสินแล้วผิด ต้องดูเจตนาเรื่องสุจริตก่อน ด้าน “วิชา” ย้ำต้องยื่น เพราะมีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 14 พ.ย.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนพิษณุโลก นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวถึงกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประกาศจะลาออก เนื่องจากไม่ต้องการยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ตามประกาศ ป.ป.ช. ว่า ทางป.ป.ช.ทำตามมาตรา 102 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่บัญญัติให้ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งต่างๆ ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 106 ที่บัญญัติให้ต้องประกาศให้สาธารณชนรับทราบ รับรู้ เพื่อร่วมกันตรวจสอบ ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ส่วนกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออก เพราะไม่สะดวกที่จะยื่นนั้น ตนเห็นว่า การที่ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งเหล่านี้ไปด้วย เพราะกฎหมายได้กำหนดตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ตนเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา แต่เห็นว่า การที่ ป.ป.ช.ยืดเวลาออกไป 60 วัน เพื่อจะให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีเวลาปรับตัว และไปพิจารณา แต่ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ต้องการจะลาออกก็จะทำให้สถาบันการศึกษาได้มีเวลาหาคนมาทดแทนได้ทัน เพราะสมัยตนเป็นประธาน ป.ป.ช. ตอนที่มีการกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เคยเจอปัญหาลักษณะเดียวกัน เราได้ให้เจ้าหน้าที่ไปอธิบายทำความเข้าใจ สุดท้ายจึงคลี่คลาย ดังนั้น เมื่อมีเวลาเพิ่มขึ้น 60 วัน ป.ป.ช.จะมีเวลาในการไปชี้แจงทำความเข้าใจ อธิบายขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนการกรอกเอกสาร เพื่อลดความกังวล เชื่อว่าจะคลี่คลายไปได้

“กรณีที่นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยกลัวว่าจะยื่นผิดยื่นถูก ในมาตรา 109 ของของ พ.ร.ป.ป.ป.ช. กำหนดไว้ว่า ถ้ายื่นโดยสุจริต แต่ขาดตกบกพร่อง ป.ป.ช.จะแจ้งให้ผู้นั้นยื่นให้ครบ ถ้าแต่แจ้งไปแล้วยังเพิกเฉย แสดงว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ก็ต้องตรวจสอบ ดังนั้น ถ้าสุจริตก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร” นายปานเทพ กล่าว

ด้านนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การพิจารณาใช้งบประมาณในมหาวิทยาลัยนั้น ตามปกติต้องเป็นมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ตนเข้าใจว่าการยกร่างในชั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อเขียนถึงผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่มีระบุถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีเพียงคำว่าผู้บริหารขององค์กรอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเติมเข้าไปโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้ขอ เนื่องจากต้องการให้ดูเรื่องการบังคับใช้อำนาจอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งยังจะมีเรื่องการแต่งตั้งด้วย ซึ่ง สนช.เห็นด้วย