ตั้งเป้ากู้ซากเรือฟินิกซ์ไม่เกิน 5 วัน

ตั้งเป้ากู้ซากเรือฟินิกซ์ไม่เกิน 5 วัน

ปฎิบัติการ "กู้ซากเรือฟิกซ์" ตั้งเป้าใช้ไม่เกิน 5 วัน คาดนำขึ้นสู่ผิวน้ำได้ในวันพรุ่งนี้! เผยเตรียมนำขึ้นคานเรือรัตนชัย ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เข้าสู่กระบวนพิสูจน์ตามกฎหมาย

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (14พ.ย.61) พล.ต.อ. รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง, รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ จำนวนกว่า 60 คน ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุเรือฟินิกซ์อับปาง ระหว่างเกาะเฮกับเกาะราชา อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจำนวน 47 ราย เพื่อติดตามปฏิบัติกู้เรือฟินิกซ์ หลังจากมีการว่าจ้างบริษัท ซีเควส มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้างรายใหม่จากสิงคโปร์เข้าปฏิบัติภารกิจต่อจากบริษัทเดิมที่ยกเลิกสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้ส่งทีมเข้าปฏิบัติการในจุดเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2561โดยมีทีมปฏิบัติการทั้งชาวไทยและต่างชาติในครั้งนี้ จำนวนกว่า 100 ชีวิต พร้อมด้วยอุปกรณ์ปฏิบัติการใต้น้ำ รวมถึงเรือเครนขนาด1, 200 ตัน ความยาว 100 เมตร และเรือลากจูงความยาว 34 เมตร ซึ่งเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุเมื่อบ่ายวานนี้ (13 พ.ย.61)

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการกู้เรือครั้งนี้เป็นอย่างมาก และทุกภาคส่วนได้มีความพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนรายใหม่จากประเทศสิงคโปร์เข้ามาดำเนินการ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐาน และเป็นเรือเครนลำเดียวที่มีขนาดใหญ่ในเอเชีย ด้วยศักยภาพของเครนที่มีน้ำหนักกว่า 1,000 ตัน มั่นใจว่าจะสามารถกู้เรือฟินิกซ์ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 200 ตันขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

เบื้องต้นหากไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไรคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วันก็จะสามารถก็เรือขึ้นมาได้ และเมื่อเรือขึ้นมาแล้วก็จะนำไปขึ้นไว้ที่คานรัตนชัยในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานพิสูจน์หลักฐานและผู้เชี่ยวชาญด้านเรือจากต่างประเทศ ร่วมกันตรวจสอบว่าเรือมีการต่อสมบูรณ์หรือไม่ ใครเป็นผู้อนุมัติพิมพ์เขียว และพิมพ์เขียวมีความสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในทุกด้านให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์อย่างที่สุด

“ปฏิบัติการกู้เรือฟินิกซ์ขึ้นมาให้ได้นั้น เพื่อเป็นการแสดงให้รัฐบาลจีนเห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลไทยในการหาสาเหตุของการเกิดเหตุอับปางและหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชน เพราะเรือฟินิกซ์ถือเป็นวัตถุพยานสำคัญของคดี รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเชื้อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวด้วย โดยสิ่งทำควบคู่กันไป การออกมาตรการดูแลความปลอดภัยการท่องเที่ยวเที่ยว และมีการกำหนดท่าเทียบเรือจำนวน 24 แห่งในจังหวัดภูเก็ตที่จะให้มีการตรวจสอบการนำนักท่องเที่ยวออกจากท่าเรือ โดยกำลังของเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ที่ร่วมตรวจสอบ และจะไม่มีการปล่อยเรือบนกระดาษอีกแล้ว เรือที่จะออกจากท่าทุกลำจะต้องผ่านการตรวจสอบจริงๆ รวมไปถึงการตรวจรถด้วยหลังจากนี้ เพราะนิยามความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญของเมืองท่องเที่ยว”

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้น และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยออกมาตรการผ่อนปรนวีซ่า 3 ประเภท,การผ่อนปรนการเดินทางผ่านแดนทางช่องทางรถยนต์ ณ จุดตรวจ ของด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการท่องเที่ยว อาทิ การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในช่องทางตรวจของตรวจคนเข้าเมือง,ยกเว้นค่าธรรมเนียม 60 วันในอัตรา 2,000 บาท สำหรับ 20 ประเทศกับ 1 เขตเศรษฐกิจไต้หวัน รวมถึงมีการแก้ไขข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว เมื่อเดินทางออกนอกประเทศแล้วยังสามารถเข้ามาในประเทศไทยได้อีก มาตรการเหล่านี้รัฐบาลได้ดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อแสดงถึงความจริงใจในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

ขณะที่นายธนภัทร เหมมังกร ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือและเป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติการกู้เรือฟินิกซ์ครั้งนี้ กล่าวถึงขั้นตอนการกู้เรือขึ้นจากใต้ท้องทะเลว่า จากการตรวจสอบของมทีมประดาเบื้องต้น สภาพเรือปัจจุบันเอียงอยู่ประมาณ 15 องศา สภาพตัวเรือมีความสมบูรณ์ประมาณ 70-80 % ส่วนที่เสียหายจะเป็นอุปกรณ์เสริม หลังจากนี้นักประดาน้ำจะนำเชือกที่สามารถรับน้ำหนักได้เส้นละ 160 ตัน ลงไปผูกในส่วนของหัวเรือโดยสอดไปใต้เรือจำนวน 2 เส้น และนำมาผูกบริเวณหลังคาเรือ และในส่วนของใต้เรือก็ทำลักษณะเดียวกันขณะนี้ดำเนินการแล้ว จากนั้นจะใช้เครนค่อยๆ ยกขึ้นมาจากก้นทะเล เรือจมอยู่ในทรายประมาณ 1 เมตร โดยจะดึงขึ้นมาประมาณ 4 เมตรให้พ้นจากท้องทะเลเพื่อดูการตรงตัวของเรือ หากเรือทรงตัวได้ไม่เอียงก็จะดึงขึ้นมาอีกประมาณ 50 เมตร เพื่อดูการทรงตัวเช่นเดิม

จากนั้นก็จะดึงขึ้นมาช้าๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการดึงเรือขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ และเมื่อเรือมาอยู่ผิวน้ำแล้วก็ก็จะทำการสูบน้ำออกจากตัวเรือ และหากพบมีรอยรั่วก็จะทำการอุดรอยรั่วของตัวเรือต่อไป ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ได้มีการเตรียมการไว้พร้อมเรียบร้อยแล้ว เมื่อเรือพ้นจากผิวน้ำก็จะลากมาเทียบกับเรือบาร์จลำเล็ก เพื่อให้ประคองเรือฟีนิกซ์ในขณะที่ลากไปยังคานเรือรัตนชัย ในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่เรือจมประมาณ15กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางไปยังคานเรือประมาณ 3-4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม นายธนภัทร กล่าวด้วยว่า จากอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้จะมีสมรรถนะที่สูง โดยเฉพาะตัวเครนสามารถยกของที่จมอยู่ใต้ทะเลลึกถึง 100 เมตร เป็นเครน 1 ใน 6 ตัวของโลก และเป็นเครนเดียวในเอเชีย ดังนั้นด้วยน้ำหนักเรือ 200 ตัน จะสามารถกู้ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน โดยหลังจากมีการทิ้งสมอคาดว่าจะเสร็จในช่วงเย็นวันนี้แล้ว (14 พ.ย.61 ) จากนั้นพรุ่งนี้เช้า (15 พ.ย.) เมื่อทำอุปกรณ์เกี่ยวเรียบร้อยแล้วก็จะทำการยกขึ้น ในส่วนของปัญหากระแสน้ำนั้นจะมีการตรวจสอบจากมาตราน้ำคือน้ำขึ้นน้ำลง หากไม่มีน้ำขึ้นน้ำลงจะไม่มีกระแสน้ำ เป็นหลักการปกติของชาวเรือ และจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการลงไปทำงาน ส่วนของปัญหาอุปสรรคขณะนี้ยังไม่พบแต่อย่างใด แต่การทำงานจะมีการปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์เฉพาะหน้าตลอดเวลา หากสามารถทิ้งสมอได้ทั้งหมด 8 จุด พรุ่งนี้เช้า (15 พ.ย.61) จะลงมือยกเรือขึ้นมาได้ทันที หากสามารถยกเรือขึ้นมาได้ก่อนเที่ยงก็จะสามารถนำเข้ามายังคานเรือในช่วงบ่ายวันเดียวกัน