รัฐหนุนสหกรณ์ใช้เครืองจักรได้ผล!

รัฐหนุนสหกรณ์ใช้เครืองจักรได้ผล!

สศก. ระบุ รัฐบาลหนุนสหกรณ์ใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน สามารถยกระดับการให้บริการ ได้จริง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.61 นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลติดตามโครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 2561 ซึ่งภาครัฐได้สนับสนุนเงินอุดหนุนแก่สหกรณ์ 70% และสหกรณ์สมทบเพิ่มอีก 30% เพื่อจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้สหกรณ์รวม 53 แห่ง ช่วยลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานรวมทั้งให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามตัวอย่างกลุ่มสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สหกรณ์โคนมเชียงราย สหกรณ์โคนมผาตั้ง และสหกรณ์โคนมลำพูน พบว่า

สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี ได้ขอรับการสนับสนุนเป็นรถโฟล์คลิฟท์ระบบไฟฟ้าก้านสูง 2 ตัน จำนวน 1คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บผลิตภัณฑ์นม โดยสหกรณ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ (70%) เป็นเงิน 883,820 บาท และสหกรณ์สมทบ (30%) เป็นเงิน 378,780 บาทรวม 1,262,600 บาท ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สหกรณ์สามารถขนนมได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยส่งได้ 150,000 กล่องต่อวัน หรือ 39 ล้านกล่องต่อปี จากเดิมที่เคยขนได้ 75,000 กล่องต่อวัน หรือ19.5 ล้านกล่องต่อปี

นอกจากนี้ ยังขอรับการสนับสนุนเครื่องชั่งรถบรรทุก ขนาด 50 ตัน สหกรณ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ (70%) เป็นเงิน 385,000 บาท และสหกรณ์สมทบ (30%) เป็นเงิน 165,000 บาท รวม 550,000 บาทเพื่อนำไปใช้งานที่จุดรับนม ณ ศูนย์มิตรภาพ ทำให้สามารถรักษาคุณภาพนมได้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องไปชั่งน้ำหนักที่ศูนย์มวกเหล็ก ซึ่งห่างไกลจากเกษตรกร

สหกรณ์โคนมเชียงราย จ.เชียงราย ขอรับการสนับสนุน เครื่องบรรจุนมพาสเจอร์ไรซ์ จำนวน 3 เครื่องเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมบรรจุถุงของสหกรณ์โดยได้รับเงินอุดหนุน (70%) เป็นเงิน 1,050,000 บาท และสหกรณ์สมทบ (30%) เป็นเงิน 873,000 บาท รวม1,923,000 บาท (ราคา 641,000 บาท/เครื่อง) ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกำลังการผลิตเครื่องใหม่ 3 เครื่อง สามารถผลิตนมบรรจุถุงได้ 2 ตัน ในเวลา 1 ชม. ในขณะที่เครื่องบรรจุนมพาสเจอร์ไรซ์เครื่องเก่าที่มีการใช้งานมาตั้งแต่ ปี 2546ให้กำลังการผลิต 3 เครื่อง ได้เพียง 1 ตัน ในเวลา 1 ชม.

สหกรณ์โคนมผาตั้ง จ.เชียงใหม่ ขอรับการสนับสนุนโกดังเก็บสินค้า ขนาด 800 ตารางเมตร โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (70%) เป็นเงิน 713,300 บาท และสหกรณ์จ่ายสมทบ (30%) เป็นเงิน 307,700 บาท มูลค่ารวม 1,021,000 บาทส่งผลให้สหกรณ์เก็บอาหารสัตว์ได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเก็บได้ 10,000 กระสอบ เพิ่มเป็น 20,000 กระสอบ

นอกจากนี้ ยังมีสหกรณ์โคนมลำพูน จ.ลำพูน ที่ยังไม่เคยใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มีปัญหาเรื่องอาหาร TMR ที่ใช้ในการเลี้ยงโคนมที่ซื้อมามีคุณภาพไม่เหมาะสม สหกรณ์จึงจำเป็นต้องส่งเสริมด้านสัตวบาล และมีการควบคุมการผลิตอาหารแบบ TMR ที่เหมาะสม โดยขอรับการสนับสนุนรถแทรกเตอร์พร้อมเครื่องผสมอาหาร TMR ขนาด 8 คิวจากรัฐ (70%) เป็นเงิน 1,602,300 บาท และสหกรณ์จ่ายสมทบ (30%) เป็นเงิน 686,700 บาท มูลค่ารวม 2,289,000 บาทซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงใช้งานเพื่อทดลองผลิตสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงโคนมของสมาชิกในโครงการธนาคารโคนม โดยสามารถผสมอาหารได้ 2 รอบ รอบละ 2.5 ตัน รวมได้ปริมาณ 5 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ช่วยให้สหกรณ์ได้ยกระดับการให้บริการแก่สมาชิกทั้งในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการบรรจุจัดเก็บผลิตภัณฑ์ สหกรณ์สามารถผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายให้สมาชิกและกระจายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นอย่างไรก็ตามในอนาคตสหกรณ์จำเป็นต้องวางแผนการให้บริการ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งให้องค์ความรู้การใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ได้ต่อไป